ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จับตา ‘โอมิครอน’ อาจสะเทือนเศรษฐกิจโลก-ไทย มองแง่ร้ายกระทบจีดีพีไทยปี’65 คาดฟื้นตัวลดลงเหลือ 2.8%

ศูนย์วิจัยกสิกรจับตาโอมิครอน – น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีความกังวลต่อความรุนแรงของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน (Omicron) แม้จะยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัด ซึ่งในการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยแบ่งออกเป็น 2 กรณี ภายใต้สมมติฐานที่การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน จะบรรเทาลงในปลายไตรมาสที่ 1 ปี 2565 นอกจากนี้ รัฐบาลไทยคาดว่าจะไม่มีการกู้เงินนอกงบประมาณเพิ่มเติม โดยให้ใช้วงเงิน 2.6 แสนล้านบาทที่คงเหลือจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

ในกรณีดี แม้ไวรัสจะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แต่หากความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา และวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันสามารถลดหรือจำกัดระดับความรุนแรงของอาการป่วยได้ ไทยอาจไม่จำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์ ดังนั้นเศรษฐกิจทั้งปี 2565 ยังน่าจะสามารถฟื้นตัวได้ที่ 3.7% โดยเศรษฐกิจไทยยังจะได้รับแรงหนุนจากการส่งออก การฟื้นตัวของการใช้จ่ายครัวเรือน รวมถึงการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ซึ่งภายใต้กรณีนี้จะมีเพียงแรงกดดันจากเงินเฟ้อยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ

ส่วนในกรณีแย่ โอมิครอนมีความรุนแรงเทียบเท่ากับสายพันธุ์เดลตา และประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันลดลงอย่างมาก ส่งผลต่อความจำเป็นต้องมีการนำมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศมาใช้ เช่น ปิดประเทศ รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศตามระดับความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 2.8% อย่างไรก็ตาม ภายใต้สมมติฐานในกรณีแย่ สถานการณ์การแพร่ระบาดในภาพรวมยังดีกว่าช่วงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่เริ่มในช่วงเดือนเม.ย. 2564

“ขณะนี้ยังมีข้อมูลของโอมิครอนค่อนข้างน้อย คงต้องรอข้อมูลที่ชัดเจนก่อน ขณะนี้เราจึงให้น้ำหนักไปในทางดีเศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 3.7% ตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งหากเกิดกรณีเลวร้ายมากจะมีการทบทวนกันอีกครั้งในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า และหากมีความรุนแรงจนส่งผลกระทบจีดีพีขยายตัวต่ำกว่า 2.8% ภาครัฐอาจจะใช้เงินกู้เพิ่มเติมอีกประมาณ 2-3 แสนล้านบาทเพื่อบรรเทาผลกระทบ ซึ่งอยู่ในสถานะที่สามารถทำได้”

น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ผลกระทบต่อตลาดท่องเที่ยวไทยที่เศรษฐกิจพึ่งพาอย่างมากนั้น ในกรณีดีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 น่าจะฟื้นตัวมาอยู่ที่ 4 ล้านคน สร้างรายได้ 3 แสนล้านบาท จากปีนี้น่าจะประมาณ 3.5 แสนคน แต่กรณีแย่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเหลือประมาณ 2 ล้านคน สร้างรายได้ 1.5 แสนล้านบาท เพราะการท่องเที่ยวจะขาดช่วงไป 2-3 เดือน จากการที่ประเทศต่างๆ รวมถึงไทยจำเป็นต้องยกระดับการควบคุมการเดินทาง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปทุกๆ 1 ล้านคน จะกระทบรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท

น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มภาคการเงินนั้น ในกรณีดี ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ยังน่าจะทยอยลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินตามแผน ซึ่งตลาดประเมินโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปี 2565 ถึง 2-3 ครั้ง จะผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ สูงกว่าไทยในช่วงปลายปี และย่อมจะเพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินบาทให้มีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่าในช่วงครึ่งปีแรก

ขณะที่ในกรณีแย่ จะกระทบรายได้จากการท่องเที่ยวและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ส่งผลให้เงินบาทในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ขาดปัจจัยหนุนและอ่อนค่ากว่ากรณีแรก โดยมีโอกาสอ่อนค่าแตะ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ แต่ไม่ว่าจะกรณีไหน ธุรกิจควรรับมือกับภาวะที่เงินบาทจะแกว่งตัวในกรอบกว้าง แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยจะยังไม่ปรับขึ้นในปี 2565 แต่แนวโน้มต้นทุนการกู้ยืมในตลาดตราสารหนี้ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อ และนักลงทุนรายย่อยไทยคงจะยังแสวงหาช่องทางการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน