นายอดิศักดิ์ ชูสุข ผู้อำนวยการกองวิจัย ค้นคว้าพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า พพ. เดินหน้าสร้างการรับรู้ความเข้าใจขับเคลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) จำนวน 43 ราย จากจำนวนผู้สมัครที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค 169 ราย เพื่อผลักดันโรงไฟฟ้าชุมชนให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบรรลุเป้าหมายตามแผนส่งเสริมพลังงานทดแทน

ล่าสุด ลงพื้นที่ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช เข้าชมบริษัท ปาล์มดีชุมชน กรีนพาวเวอร์ จำกัด ได้ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนปาล์มน้ำมันพืชโตไวและเลี้ยงสัตว์ปาล์มดีศรีนคร ผลิตไฟฟ้าจากพืชชีวมวล ขนาด 2.85 เมกะวัตต์ จากการใช้พืชโตเร็วเป็นเชื้อเพลิงหลัก และนำวัสดุเหลือใช้จากสวนปาล์มเป็นเชื้อเพลิงเสริม และบริษัท ปาล์มดีกรีนพาวเวอร์ จำกัด ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนผลิตปาล์มน้ำมันและปลูกหญ้าเนเปียร์ ในการผลิตไฟฟ้าแก๊สชีวภาพ ขนาด 3 เมกะวัตต์ โดยใช้หญ้าเนเปียร์ผสมกับน้ำเสีย 25% ในการหมักเพื่อให้เกิดแก๊สชีวภาพ และใช้แก๊สเพื่อมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าต่อไป

“ต้นปี 2568 ทุกโรงไฟฟ้าที่เข้าระบบต้องทำตามเป้าหมายที่ได้ทำสัญญาไว้ หากทำไม่ได้ตามเป้า พพ. จะยกเลิกใบอนุญาต ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ พพ. ได้จัดเสวนาและนิทรรศการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับวิสาหกิจชุมชนพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับพืชพลังงาน ถือเป็นหนึ่งในนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่จะช่วยให้ชุมชนมีรายได้จากการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน”

นายวิกรม โกมลตรี ตัวแทนบริษัท ปาล์มดี กรีนพาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพใช้พื้นที่ประมาณ 40 ไร่ มีวิสาหกิจชุมชนผลิตน้ำมันและผลิตหญ้าเนเปียร์ปาล์มดีศรีนคร ที่มีสมาชิกกว่า 300 ราย มีความพร้อมที่จะปลูกพืชพลังงานอย่างหญ้าเนเปียร์ป้อนให้โรงไฟฟ้าชุมชน โดยใช้วิธีการเช่าพื้นที่ปลูกเป็นหลัก เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ทำประโยชน์ประมาณ 250 ไร่ อยู่ระหว่างปรับพื้นที่ เพื่อปลูกหญ้าเนเปียร์นำร่องหรือเช่าพื้นที่ริมคลองพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ชะอวด-แพรกเมือง ให้สมาชิกวิสาหกิจชุมชนปลูกหญ้าเนเปียร์ด้วยเช่นกัน หรือปลูกแซมในสวนปาล์ม เป็นต้น

“เบื้องต้นเรามีพื้นที่สำรองปลูกหญ้าเนเปียร์อีกกว่า 1,000 ไร่ แต่ไกลจากโรงงานถือเป็นแผนสำรองในการจัดหาเชื้อเพลิง ซึ่งมั่นใจกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ปลูกรวมกันกว่าหลายหมื่นไร่ จะได้หญ้าเนเปียร์ที่ปลูกแซมพื้นที่อยู่ที่ 70 ตันต่อไร่ต่อปี จึงไม่กังวล เพราะการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล 1 เมกะวัตต์ จะใช้หญ้าเนเปียร์ราว 30-50 ตันต่อวัน ซึ่งหากผลิตได้ 2.75 เมกะวัตต์ จะใช้หญ้าเนเปียร์ราว100 ตัน ตั้งเป้า 300 วัน จะใช้หญ้าเนเปียร์ 3 แสนตัน และปาล์ม 1 โรงงานจะมีพื้นที่เพาะปลูก 1 แสนไร่”
ดังนั้น พื้นที่เพาะปลูกหญ้าเนเปียร์ 100 ไร่เต็มพื้นที่ต่อ 1 เมกะวัตต์ ถือว่าเพียงพอ ส่วนราคารับซื้อหญ้าเนเปียร์อยู่ที่ตันละ 300-500 บาท สวนปาล์มหากคิดตามสูตรเฉลี่ยทั้งปีทั้งประเทศ 3 ตันต่อไร่ แต่ในพื้นที่นี้เฉลี่ยอยู่ที่ 5 ตันต่อไร่ต่อปี หากคิดราคาปาล์มขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 6 บาท และหากคิด 3 ตันจะได้ 18,000 บาทต่อ 1 ไร่”

อย่างไรก็ตาม คาดว่าโรงงานจะผลิตไบโอแก๊สจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (ซีโอดี) ได้ช่วงปลายปี 2565 ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวลจะต้องดูรายละเอียดก่อนสร้างเพราะยังมีผลกระทบเรื่องการบริหารจัดการ รวมถึงเงินลงทุนเพื่อให้อยู่ในกรอบที่ พพ. กำหนดไม่เกิน 36 เดือน หรือภายในวันที่ 21 ม.ค. 2568 คาดว่าจะคุ้มทุนใน 7 ปีจากการลงทุนราว 160-170 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน