คาดจีดีพีเกษตรปี’65 เติบโต 2.0-3.0% จับตา โอมิครอน-บาทแข็ง-การแข่งขันทางการค้าโลก-น้ำมันแพง

คาดจีดีพีเกษตรโต2.0-3.0% – นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวเปิดงานเสวนา “Booster เกษตรไทย สู่ เกษตรมูลค่าสูง” และการรายงานภาวะเศรษฐกิจการเกษตรตลอดปี 2564 และแนวโน้มในปี 2565 ว่า ภาคเกษตรถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นรากฐานด้านความมั่นคงทางอาหารของประเทศและของโลก ช่วยเศรษฐกิจไทยในวิกฤตต่างๆ จนถึงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคเกษตรให้เติบโต

และยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีเป้าหมายสำคัญให้ GDP ภาคเกษตร และผลิตภาพการผลิตของภาคเกษตรเพิ่มขึ้น รวมทั้งปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ครอบคลุมตั้งแต่ด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด และมุ่งลดต้นทุน ส่งเสริมสินค้ามูลค่าสูงเช่น สมุนไพร และสินค้าเกษตรเพื่อสุขภาพ ด้านการแปรรูป ผลักดันให้มีการแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร มาอย่างต่อเนื่อง

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า จากปัจจัยดังข้างต้น ส่งผลให้ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2-3% โดยสาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกสาขา จากปัจจัยสนับสนุน ทั้งสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย การดำเนินนโยบายด้านการเกษตรที่ต่อเนื่อง

ทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพิ่มช่องทางให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลเพื่อการวางแผนการผลิต การแปรรูป และการตลาดโดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร รวมทั้งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรของไทย

“แม้มีปัจจัยบวก แต่ยังต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ไม่ว่าจะเป็น ภัยธรรมชาติ และความแปรปรวนของสภาพอากาศ สถานการณ์ของโรคโควิด-19 โอมิครอน ที่อาจเกิดการระบาดในระลอกใหม่ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าประเทศคู่แข่ง จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันทางการค้าสินค้าเกษตรไทย และราคาน้ำมันดิบที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นส่งผลต่อต้นทุน ตลอดจนการค้า จีน-อเมริกา ต้องจับตาเพราะเริ่มมีการเเข่งขันที่เขัมข้นขึ้น”

นายฉันทานนท์ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2564 พบว่า ขยายตัว 1.5% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุน จากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 ซึ่งเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืช และประมง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดที่ปรับตัวดีขึ้นจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการผลิตและบำรุงรักษาที่ดี รวมไปถึงการดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐ อาทิ การขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ขยายตัวมากขึ้นเช่นกันหากพิจารณาในแต่ละสาขา พบว่า สาขาพืช ในปี 2564 ขยายตัว 3.3% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยพืชสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปี 2564 มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก

รวมถึงการปลูกทดแทนพืชชนิดอื่น อาทิ อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และในบางพื้นที่สามารถเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ 2 รอบ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตเพิ่มขึ้น มันสำปะหลัง ผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคามันสำปะหลังปรับตัวเพิ่ม มีโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังโรงงาน ทำให้เกษตรกรขยายเนื้อที่และทำการเพาะปลูกได้ต่อเนื่อง อ้อยโรงงาน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่มีมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน