รายงานพิเศษ

‘หวยแพง’ เป็นปัญหาเรื้อรังมานานคู่สังคมไทย ที่ไม่ว่ารัฐบาลไหน ก็ไม่สามารถแก้ไขให้เบ็ดเสร็จ สะเด็ดน้ำได้จริงจังเสียที

หินก้อนใหญ่จึงมักถูกปากลับไปที่ ‘สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล’ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ในการบริหารจัดการสลากกินแบ่ง ให้กลับมาอยู่ในราคาที่กำหนดไว้ 80 บาทให้ได้

ภายใต้การคุมเกมของ พ.ท.หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ป้ายแดงสดๆ ร้อนๆ แต่จะเรียกมือใหม่ก็ไม่ได้ เพราะอยู่ใต้เงาคณะกรรมการสลากชุดนี้ ร่วมทศวรรษ ซึ่งพอจะเห็นถึงรากเหง้าของปัญหาหวยเกินราคา มาจากไหน ควรแก้อย่างไร และต้องแก้ที่ใคร?

แพ็กคู่กับ นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต หลังรับตำแหน่งในฐานะประธานกรรมการสลากฯ ร่วมปีเศษ รับบท ‘หนังหน้าไฟ’ กุมบังเหียนแก้ปัญหาหวยแพงอีกคำรบ

ถือฤกษ์ดี กาง ‘โรดแม็ปแก้หวยแพง’ ปี 2565 เหมือนคำมั่นสัญญา ลงมือแก้ปัญหา ในฐานะคนขายสลากมือแรก 100 ล้านฉบับ ออกมาขยับตัว เอาจริงเอาจังให้คน ไทยเห็นหวย 80 บาท เหมือนที่ฝันไว้

หวย 80 บาทกับเส้นทางของ “ลวรณ-พ.ท.หนุน” หน้าตาเป็นอย่างไร จากที่ประชุมคณะกรรมการสลากฯ เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2564 ขึงเกณฑ์ไว้ 3 เรื่อง คือ

1. รื้อระบบสิทธิ์ซื้อ-จองเดิมที่ทำไว้ในปี 2558 ร่วม 1.5 แสนราย แล้วล้างไพ่ลงทะเบียนใหม่ ภายใต้เงื่อนไขใหม่ แบบคัดตัว ‘ผู้มีอาชีพขายสลากจริง’ จากเดิมที่ ไม่ได้กำหนดเงื่อนไข เพราะต้องการให้การขายสลากเป็นเพียงอาชีพเสริมเพิ่มรายได้

ตั้งเป้าหมายยอดลงทะเบียนรอบใหม่ไว้ที่ 2 แสนราย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ม.ค. 2565 ซึ่งเดิมที่กำหนดให้ทั้ง “รายเก่า” และ “รายใหม่” ต้องโดดมาลงทะเบียนในเงื่อนไขเดียวกัน เช่น ต้องไม่เป็นผู้มีอาชีพประจำ ไม่อยู่ในมาตรา 33 ประกันสังคม ต้องไม่ใช่ข้าราชการ ไม่มีเงินเดือนประจำ เป็นต้น

แต่หลังจากเจอ “คลื่นมวลชนคนขายหวย” แห่มาปิดล้อมสำนักงานสลากฯ จึงมีอันต้องยอมถอย เปิดช่องให้ผู้ค้ารายเดิมกว่า 2 แสนราย มาลงทะเบียนช่องทางหนึ่ง โดย “ผ่อนผัน” ให้ใช้คุณสมบัติแบบเดิมได้ และเปิดช่องทางสำหรับรายใหม่ ภายใต้คุณสมบัติที่รัดกุมเข้มงวด กว่าเดิม ตามมติบอร์ดสลาก

ถึงตรงนี้จะเห็น “ความแตกต่าง” ระหว่างผู้ได้สิทธิ์จองซื้อรายเดิมกับรายใหม่ ที่อาจจะแคลงใจว่าจะเกิดความลักลั่นไม่เป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งกองสลากก็ทุบโต๊ะยันว่าการจัดสรรสลากรอบนี้จะรัดกุม ละเอียดรอบคอบ ที่สำคัญโปร่งใส ชนิดที่ว่าสลากที่ส่งไปทุกใบ จะถึงมือคนที่ขายจริงไม่นำไปขายต่อ ไม่ผิดฝาผิดตัว ไม่ว่าจะรายเดิมหรือรายใหม่ เกณฑ์การจัดสรรจะยังเข้มข้นเหมือนกัน

ที่ทำได้ คือ Wait And See รอดูว่าจะทำได้สมราคาคุยหรือไม่ โดยล่าสุดยอดลงทะเบียน ผ่านครึ่งเดือน ทั้งรายเก่า รายใหม่ ทะลุ 6 แสนรายไปแล้ว จากเป้าหมายในใจที่ตั้งไว้ 4 แสน และตัวเลขยังไม่มีท่าทีจะนิ่ง เพราะมีคนลงทะเบียนพุ่งเฉลี่ยต่อวันที่ 1.7-2 หมื่นราย

มองเป้าไกลๆ อาจถึงขั้น ลงทะเบียนแตะ 1 ล้านราย ชนิดพลิกหน้าประวัติศาสตร์

ประเดิมขายงวดแรก ในกลุ่มผู้ได้สิทธิ์ซื้อ-จอง รอบใหม่ 2 แสนราย ไว้งวดวันที่ 16 พ.ค. 2565 แต่ยอดคนลงทะเบียนมหาศาล ก็ดูท่าจะต้องส่อแวว “เลื่อน” เพราะกว่าจะตรวจสอบข้อมูลรายตัวให้ได้ตามคุณสมบัติ ครบทั้งหมดก็กินเวลานานโขกว่าเดิม

ความท้าทาย คือ แม้เกณฑ์จัดสรรที่เขียนไว้คุมผู้ค้าสลากรายย่อยที่มีสัดส่วนกว่า 70% ของจำนวนสลาก 100 ล้านฉบับต่องวด จะเขียนไว้ดีสักแค่ไหน ก็ไม่ใช่สิ่งที่ การันตีได้เลยว่าราคาสลากจะถูกปักไว้ที่ 80 บาท เพราะเมื่อสลากยังเป็นแบบใบ ซื้อขายแบบมือผ่านมือ บรรดายี่ปั๊ว ซาปั๊ว แพลตฟอร์มขายหวย ดอตคอมต่างๆ ก็ต้องหาช่องเข้ามาแทรกแซง รับสลากไปขายต่อเหมือนที่ผ่านมาได้อยู่ดี

ขณะที่ผู้ได้สิทธิ์ซื้อ-จอง รอบใหม่ ถ้าไม่สนใจต่อ กฎเกณฑ์ที่ควบคุมไว้ ก็จ้องปล่อยสลากในมือที่ได้รับจัดสรรคนละ 5 เล่มต่องวด ไปถึงมือยี่ปั๊ว ซาปั๊วเช่นเคย เพราะกำไรแม้ได้มากได้น้อย ถ้าไม่ต่ำกว่าต้นทุนที่ 70.40 บาทต่อใบ ก็ขายยกเล่ม ไม่ต้องไปเดินเสี่ยงขายไม่หมดแล้ว

กองสลากต้องทำให้เห็นว่า การจัดสรรรอบใหม่นี้ กฎเกณฑ์ที่ส่งลงไปต้องไม่ใช่เพียงการ “ห้ามทำ” แต่ “ต้องทำ” ตามที่สำนักงานสลากฯ อยากเห็น เพราะเพียงการเที่ยวพูดว่า “อย่าขายเกินราคาๆ” ดูจะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ได้ผล แต่กฎเกณฑ์ที่ไม่มีช่องโหว่ให้หลุดมาขายเกิน 80 บาทได้ คือสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นจากโรดแม็ปในครั้งนี้

เรื่องที่ 2 ขยายจุดจำหน่ายโครงการสลาก 80 บาท (GLO Official Seller) ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง ซึ่งที่ผ่านมาได้นำร่องไปในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

โดยเตรียมขยายไปทั่วประเทศ ทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง โดยจัดให้มีการจำหน่ายอำเภอละ 1 จุด รวมทั้งหมดไม่เกิน 1,000 จุดทั่วประเทศ เปิดให้ผู้ที่ได้สลากในระบบโควตาเข้าร่วมโครงการ โดยจะได้รับการจัดสรรรายละ 25 เล่ม ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค. 2565-31 ม.ค. 2565 โดยกำหนดให้วางขายงวดแรกในงวด 2 พ.ค. 2565

การแก้ไขปัญหาสลาก 80 บาท ด้วยระบบ GLO Official Seller จนถึงขณะนี้มีผู้ร่วมลงทะเบียนแล้วกว่า 6 พันราย สุดท้ายแม้อาจไม่ถึงเป้า 1 อำเภอ 1 จุด แต่ทุกจังหวัดจะต้องมีร้านค้า 80 บาทแน่นอน

หัวใจที่ขายได้ 80 บาท คือ การกำหนดให้มีการซื้อ-จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” เมื่อข้อมูลการซื้อจ่าย อยู่ในระบบที่สามารถตรวจสอบได้ คนขายจึงไม่กล้านอกลู่-นอกทาง วิธีการนี้ไม่ช้าไม่นาน ควรจะต้องถูกผันไปใช้กับผู้ค้ารายย่อยในระบบรายย่อยซื้อ-จองด้วย แบบค่อยๆ ปรับแต่ต้องทำให้เห็น นี่คือสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง

สำหรับเรื่องที่ 3 จะเปิดช่องทางการจำหน่ายแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือแพลตฟอร์ม หรือช่องทางมาร์เก็ตเพลส ของสำนักงานสลากฯเอง โดยเพิ่มออปชั่นให้รายย่อยในระบบซื้อ-จอง สามารถเลือกได้ว่าจะนำสลากที่ได้รับจัดสรรงวดละ 5 เล่ม จะเลือกรับเป็นเล่มแบบใบสลากไปจำหน่ายเองในราคา 80 บาท หรือรับเป็นสลากแบบใบในระบบ

โดยแจ้งฝากขายกับแพลตฟอร์มของสลาก นำเข้าระบบ โดยสำนักงานสลากฯ จะเก็บสลากตัวจริงไว้เป็นหลักฐานในการขึ้นรางวัล ประชาชนที่จะซื้อสลากผ่านแพลตฟอร์ม ต้องมีการลงทะเบียนผู้ซื้อและจ่ายเงินเข้าตัวแทนจำหน่ายผ่านระบบเป๋าตัง โดยคาดว่าระบบจะแล้วเสร็จในเดือนพ.ค.นี้

วิธีการนี้ คือการดัดหลังกลุ่มดอตคอม ทั้งหลายที่มีอยู่ในระบบขณะนี้ ซึ่งที่ผ่านมาพยายามทำให้เห็นว่ากำลัง “กระตุกหนวดเสือ” แต่จะเป็นเสือหรือเป็นแมว คงต้องรอดู เพราะสุดท้ายก็อยู่ที่ผู้ขายสลาก จะเลือกว่าอยาก ขายเองที่มีโอกาสกลับสู่วังวนเดิม คือขายยกเล่มให้ยี่ปั๊ว ซึ่งได้กำไรแน่นอน หรือจะมาขายราคาควบคุม ลุ้นขาดทุนบนแผงแพลตฟอร์มของกองสลาก กรณีที่ขาย ไม่หมด เช่นได้เลขไม่สวย เป็นต้น

แม้นายลวรณยืนยันว่า การตรวจสอบสลากเกินราคาจากนี้จะมีความเข้มข้นมากขึ้น สลากทุกใบไม่ว่าจะขายผ่านทางช่องทางใด ที่มีลักษณะรับขายต่อกันเป็นทอดๆ จะสามารถตรวจสอบได้ว่า เป็นสลากมาจากที่ใด หรือแม้แต่มีการปิดหน้าสลาก ก็สามารถตรวจสอบได้ หากมีการขายเกินราคา ก็จะถูกตัดสิทธิ์รับเป็นตัวแทนไปตลอดชีวิต

ท้ายที่สุดเรื่อง “สลากเกินราคา” ก็เป็นหน้าที่ของ ทุกคนที่ต้องเข้ามาร่วมกันแก้ไข เพราะส่วนสำคัญที่สุดที่ทำให้สลากแพงยังอยู่ได้ คือ “คนซื้อ” ที่ล้วนยอมซื้อสลากในราคาแพงแบบไม่สมเหตุผล ซึ่งเมื่อมีความต้องการซื้อก็มีคนขาย

จิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่จะแก้หวยแพงในปี 2565 ได้ อาจเป็น “คุณ” ที่ต้องเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน

ผู้บริหารกองสลาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน