กฟผ. แบ่งเบาภาระค่าไฟฟ้าประชาชน อุ้มค่าเอฟทีกว่า 36,000 ล้านบาท พร้อมปรับแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงใหม่ ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ถึง 14,800 ล้านบาท

วันที่ 27 ม.ค.65 น.ส.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ.เปิดเผยว่า กฟผ.ปรับแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงใหม่ โดยเลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ที่มีกำหนดปลดออกจากระบบผลิตไฟฟ้าในวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากหมดอายุการใช้งาน ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.65 รวมระยะเวลาประมาณ 1 ปี

ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศลงได้ และคาดว่าการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8 ซึ่งใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง กำลังผลิตประมาณ 2,160 ล้านหน่วย เทียบเท่ากับการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ประมาณ 15,330 ล้านลูกบาศก์ฟุต สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงได้ถึงประมาณ 12,200 ล้านบาท

นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้ปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าบางปะกงและโรงไฟฟ้าเอกชนในภาคตะวันตกให้มาใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล แทนการใช้ก๊าซธรรมชาติระหว่างเดือน พ.ย.-ธ.ค.64 เพื่อลดการนำเข้าแอลเอ็นจีคิดเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ประมาณ 1,235 ล้านหน่วย เทียบเท่ากับการใช้แอลเอ็นจี 7,839 ล้านลูกบาศก์ฟุต ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงได้ถึง 2,600 ล้านบาท โดยภาพรวมสามารถช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ถึง 14,800 ล้านบาท

กฟผ.แบกรับต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซในค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) แทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.64 ไปก่อนเป็นการชั่วคราวอีกประมาณ 36,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กฟผ.ยังเตรียมพร้อมแผนรองรับอื่นๆ เช่น การปรับแผนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำต่างประเทศให้สอดคล้องรองรับกับสถานการณ์

และแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (เอสพีพี) ประเภทพลังงานหมุนเวียน เพิ่มเติมจากสัญญาเดิม พร้อมทั้งจัดตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามข้อมูลราคาเชื้อเพลิงแต่ละประเภท และพิจารณาเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแอลเอ็นจีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้วิกฤตพลังงานในครั้งนี้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน