ปี2561 นักลงทุนไทย รวมถึง นักลงทุนทั่วโลก ยังคงมองหาโอกาสในการเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยเพิ่มขึ้น หลังจากปี 2560 จะพบว่ามีกลุ่มทุนญี่ปุ่นและจีน-ฮ่องกง เข้ามาร่วมทุนกับบริษัทอสังหา ริมทรัพย์ทั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์

นอกจากนี้การนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการอยู่อาศัย ผ่านสมาร์ตซิตี้ สมาร์ตวิลเลจ หรือสมาร์ตโฮม ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่เป็นไปตามกระแสนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังเป็นกระแส ทั่วโลกด้วย

ดังนั้น “พร็อพเทค” หรือการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะเข้ามามีบทบาทต่อพัฒนาการของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยมากยิ่งขึ้น

นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงแล้วว่าปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทใน ชีวิตประจำวันของมนุษย์แล้ว ดังนั้นธุรกิจอสังหาฯ ก็ ไม่สามารถฝืนการเข้ามาของเทคโนโลยีได้ และต้องนำพาธุรกิจให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงใน ครั้งนี้ด้วย

ในปี 2561 บริษัทยังจะมีการลงทุนอีกหลายอย่าง โดยโฟกัสไปที่การให้ที่อยู่อาศัยที่ดีกว่าและครบวงจรมากกว่ากับผู้บริโภค โดยเฉพาะในไตรมาส 1 บริษัทจะมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีอีก 5-6 อย่าง

ขณะเดียวกันประเทศไทยมีขนาดเล็ก การเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 4% ขณะที่อสังหาฯ เติบโตได้อย่างมากเพียง 1.5% ของจีดีพี หรือเติบโตปีละ 5-6% ส่วนแสนสิริ มียอดขาย 3 หมื่นล้านบาท เติบโตปีละ 5-6% หรือราว 2 พันล้านบาท ทำให้บริษัทต้องออกไปแสวงหาตลาดผู้ซื้อใน ต่างประเทศ เพื่อสร้างยอดขายให้เติบโตต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนลูกค้าต่างประเทศ 25%

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลาง เด็กจบใหม่รายได้ 15,000-20,000 บาท และถือเป็นคนส่วนใหญ่ ใน 4-5 ล้านคน ที่อยู่ระบบฐานภาษีที่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ให้รัฐบาลทุกปี และคาดว่าโอกาสที่รายได้ของคนกลุ่มนี้จะปรับขึ้นไปถึง 50,000 บาท ภายใน 5 ปีจากนี้ก็เป็นได้ยาก

ในขณะที่ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยในปัจจุบันก็ยากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากโครงการที่เปิดตัวใหม่ราคาสูงขึ้นทุกปี อีกทั้งธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้คนกลุ่มนี้ค่อนข้างยาก ดังนั้นรัฐบาลควรหามาตรการแรงๆ ที่จะช่วยประเทศไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง

ด้าน นายวิชัย พูลวรลักษณ์ กรรมการสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า การเติบโตของคอนโดมิเนียม เป็นการเติบโตตามโครงการรถไฟฟ้า ขณะที่ราคาเฉลี่ยปรับขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดราคาเฉลี่ยคอนโดฯ ในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 1.4-1.5 แสนบาท/ตร.ม.

“ราคาที่ดินเป็นผู้ร้ายของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะปรับขึ้นต่อปีประมาณ 10-20% เร็วกว่าราคาคอนโดฯ ที่ปรับขึ้นเฉลี่ยปีละ 9-10% ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคของธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ เนื่องจากที่ดินมีจำกัด และปัจจุบันที่ดินกลายเป็นต้นทุนหลักในการกำหนดราคาขาย ทำให้ราคาคอนโดฯ มีแต่จะแพงขึ้น”

ขณะที่ นายวสันต์ เคียงศิริ อุปนายก สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า จากแนวโน้มเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันคนรุ่นใหม่หันมาทำธุรกิจส่วนตัว และธุรกิจสตาร์ตอัพกันมากขึ้น โดยไม่ทำงานประจำ ซึ่งในระยะกลางน่าเป็นห่วง เพราะกลุ่มนี้จะขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารค่อนข้างยาก เนื่องจากไม่มีหลักฐานรายได้ หรือสลิปเงินเดือน

ดังนั้นคงต้องช่วยกันคิดว่าในอนาคตธนาคารจะใช้เกณฑ์พิจารณาคุณสมบัติผู้กู้สำหรับอาชีพเหล่านี้อย่างไร เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ต้องการซื้อบ้าน และยังเป็นกลุ่มที่ต้องใช้เงินกู้สำหรับการซื้อบ้านสูงถึง 70-80% ดังนั้นหากธนาคารยังไม่มีการปรับเกณฑ์การพิจารณา จะมีผลต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แน่นอน

นายวิชัย วิรัตกพันธ์รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ศูนย์ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง ให้พัฒนาแพลตฟอร์มระบบฐานข้อมูลบ้านมือสอง และให้สามารถเชื่อมต่อกับธุรกรรมการเงินออนไลน์เทคโนโลยีของธนาคาร (ฟินเทคดิจิตอลแบงก์) ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าไปเลือกบ้าน ตัดสินใจซื้อ ไปดูของจริง กลับมาเกิดการตัดสินใจซื้อขาย

และสามารถขอสินเชื่อผ่านออนไลน์ ถ้าข้อมูล ทุกอย่างครบ มีระบบต่างๆ รองรับ เป็น M2M หรือเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์กับอุปกรณ์โดยผ่านเครือข่ายต่างๆ ลูกค้าเข้ามาและสำเร็จทุกกระบวนการในจุดเดียว

อย่างไรก็ดี บริษัทที่น่าจับตา อย่างบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ในรอบปี 2560 มีการเปลี่ยนแปลงหลายด้านและนำมาสู่การเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยการโดดเข้าไปร่วมทุนกับ บริษัท พราวด์ เรสซิเดนซ์ จำกัด เจ้าของโครงการพาร์ค 24 คอนโดมิเนียมระดับลักชัวรี่ ใจกลางสุขุมวิท 24 มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเส้นทางลัดสู่การขยายตลาดไปยังฐานลูกค้าระดับบน เท่านั้น ยังไม่พอ ออริจิ้นยังร่วมทุนกับ บริษัท โนมูระ เรียลเอสเตท ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาฯ รายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น

นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ออริจิ้นฯ กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาโครงการศูนย์กระจายสินค้า และโนมูระ เป็นผู้พัฒนารายใหญ่ทางด้านนี้ จะเป็นอีกเป้าหมายใหม่ที่บริษัทพยายามจะให้เกิดในปี 2561 ด้วยศักยภาพประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางอาเซียน ที่เชื่อมต่อกับกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เชื่อว่าจะมีบริษัทข้ามชาติหลายบริษัทเข้ามาลงทุนและสร้าง ศูนย์กระจายสินค้าในไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

รวมไปถึงยังมีแผนจะพัฒนาโครงการบ้านเพื่อวัยเกษียณด้วยโดยโนมูระ จะถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินในหลายรูปแบบมายาวนาน รวมถึงการนำอินเตอร์เน็ตออฟติง (IoT) มาเพิ่มคุณภาพการอยู่อาศัยให้กับลูกบ้านด้วย

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในขณะนี้ส่วนแบ่งตลาดประมาณ 72% เป็นของรายใหญ่ 11 รายแรก ที่มีการเติบโตชัดเจน เนื่องจากมีความพร้อมมากกว่า ทั้งเงินทุน แบรนด์ และการทำตลาด โดยเฉพาะตลาดบ้านแนวราบ

ดังนั้นการขับเคลื่อนการลงทุนของตลาดอสังหาริมทรัพย์จากนี้ไป ยังอยู่ในมือผู้ประกอบการรายใหญ่มากขึ้น ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจ มีผลต่อการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์

ฟังจากผู้รู้ที่อยู่ในแวดวงแล้ว พอเห็นภาพคร่าวๆ ส่วนที่เหลือคงต้องติดตามกันต่อว่าอสังหาฯ ปีจอจะแรงแค่ไหน

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ฯ สรุปภาพรวม”60-แนวโน้ม”61

ในรอบปี 2560 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประเมินปริมาณความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย โดยผ่านตัวเลขการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะอยู่ราว 2.67 แสนยูนิต ชะลอตัวลง 7% ส่วนแนวโน้มในปี 2561 คาดว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์จะขยายตัวขึ้นได้ราว 6.1% ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ส่วนมูลค่าการโอนที่อยู่อาศัยทั่วประเทศปีนี้คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 6.12 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 5.4% และปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 12.6% ขณะที่ยอดปล่อยสินเชื่อรายย่อยเพื่อที่อยู่อาศัยปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 5.87 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.2% ส่วนปีหน้า คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.9%

แต่หากดูปริมาณที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนทั่วประเทศในปี 2560 อยู่ที่ราว 2 แสนยูนิต ลดลงจากปีก่อนถึง 15.6% แต่ในปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นโดยกลับไปใกล้เคียงกับปี 2559 หรืออยู่ที่ราว 2.38 แสนยูนิต

มีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตเกิน 4% นอกจากนี้ ในรอบปี 2560 รัฐบาลเดินหน้าลงทุนโครงการขนาดใหญ่โดยเฉพาะระบบราง รวมแล้ว 6 โครงการ ระยะทาง 120.4 ก.ม.

สายสีเขียวเข้ม ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จะเปิดใช้ในปี 2561 แล้ว สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค จะเปิดในปี 2562

ส่วนอีก 3 สาย ที่จะเปิดใช้ในปี 2563 คือ สายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-คูคต สายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต และ สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ส่วน สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี จะเริ่มใช้ในปี 2567

ประกอบกับภาคส่งออกขยายเป็นบวก 8-9% ภาคท่องเที่ยวเติบโตดี ดัชนีตลาดหุ้นไทยทะลุ 1,700 จุด สูงสุดในรอบ 20 ปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าปีหน้าอาจขยับเล็กน้อย จากปัจจุบันที่ระดับ 1.50%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน