น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก กล่าวว่า การส่งออกในเดือนพ.ย. 2560 มีมูลค่า 21,435 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.4% สูงสุดในรอบ 6 ปี เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ในปี 2560 การส่งออกขยายตัวเกิน 10% แน่นอน ซึ่งเกินคาดการณ์ที่ประเมินไว้ และในปี 2561 เชื่อว่าส่งออกจะดีต่อเนื่อง ขยายตัวที่ 5.5% ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวอยู่ในกรอบ 3.8-4%

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการส่งออกไทยที่ต้องเร่งแก้ไขและติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ค่าเงินบาทที่ยังผันผวนไปในทิศทางแข็งค่าขึ้น และจะกระทบการส่งออก โดยวันที่ 12 ม.ค.นี้ ทางสภาผู้ส่งออกฯ จะเข้าพบและหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อสอบถามถึงสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาท และสะท้อนความเดือดร้อนของผู้ประกอบการส่งออก

สำหรับข้อเสนอแนะที่สภาผู้ส่งออกฯ เสนอไปยังธปท. และกระทรวงการคลัง ให้ดูแลคือ ค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพและไม่แข็งค่าจนเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคและคู่แข่ง โดย ธปท. ควรดำเนินมาตรการที่มีอยู่แล้วให้เข้มข้นขึ้น ทั้งมาตรการควบคุมการออกพันธบัตรระยะสั้น มาตรการสกัดเงินไหลเข้าระยะสั้นเพื่อการเก็บกำไรค่าเงิน และสภาผู้ส่งออกฯ ขอทราบรายงานการไหลเข้าออกของเงินแบบรายวัน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับทราบสถานการณ์และเตรียมความพร้อมรับมือ ขณะที่กระทรวงการคลังควรพิจารณานำเงินสำรองของประเทศที่อยู่ในระดับสูงมาใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อลดการกู้ยืมจากต่างประเทศลดกระแสเงินไหลเข้า

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า คาดการณ์ปี 2561 ส่งออกจะขยายตัวได้ 5.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 230,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หากแปลงเป็นรายได้ในรูปเงินบาท สมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะมีรายได้ประมาณ 7,590,000 ล้านบาท แต่หากเงินบาทในปีนี้ยังแข็งค่าต่อเนื่องและนานทั้งปี ที่สมมติฐาน 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ คิดเป็นรายได้รูปเงินบาทประมาณ 7,360,000 ล้านบาท ดังนั้นหากการส่งออกขยายตัวระดับดังกล่าว แต่เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง และแข็งค่าขึ้น 1 บาท จะทำให้รายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาทหายไป 230,000 ล้านบาท (7,590,000-7,360,000) ซึ่งกระทบไปยังห่วงโซ่การผลิตหลายทอด จะทำให้เม็ดในระบบเศรษฐกิจหายไปถึง 791,200 ล้านบาท ส่งผลให้จีดีพีลดลง 5% จึงเป็นคำตอบของเศรษฐกิจไทยที่ว่าทำไมการส่งออกดี แต่เศรษฐกิจในประเทศไม่ได้ดีตาม ดังนั้นอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ธปท. ต้องให้ความสนใจกับเรื่องของค่าเงินเป็นพิเศษ มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการประกันความเสี่ยงค่าเงินอาจยังไม่เพียงพอ ขณะที่ปี 2560 เงินบาทแข็งค่าเช่นกัน ส่งผลให้รายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาทหายไปประมาณ 350,000 ล้านบาท

นายคงฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในเกณฑ์ค่อนข้างสูง และมีความผันผวน ทำให้ผู้ประกอบการส่งออก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีรับมือไม่ทันในการจะตัดสินใจทำประกันความเสี่ยงค่าเงินว่าจะทำดีหรือไม่ ช่วงตั้งแต่ต้นปีจนวันที่ 8 ม.ค. 2561 ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32.204 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้น 10.33% จากตั้งแต่ต้นปี และแข็งค่าขึ้น 8% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แข็งค่าสุดในรอบ 39 เดือน เมื่อเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าและคู่แข่งทางการค้าสำคัญของไทย

นายชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า นอกจากเงินบาทแข็งค่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกในปี 2561 แล้ว อีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งค่าแรงคิดเป็น 10-20% ของต้นทุนการผลิต หากขึ้นค่าแรงจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น กระทบภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร รวมทั้งเอสเอ็มอี สภาผู้ส่งออกฯ เห็นว่าให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาชะลอขึ้นค่าแรงในปีนี้ออกไปก่อน

“ในขณะนี้ สภาผู้ส่งออกฯ เห็นว่าการพิจารณาเพิ่มขึ้นค่าแรงยังไม่อยู่ในสภาพที่เหมาะสม เพราะพิจารณาข้อมูลเชิงลึกพบว่าไทยมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ประกอบกับไทยมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ หากปรับขึ้นค่าแรงจะทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น กระทบร้ายแรงสุดคือเอสเอ็มอี ที่ปรับตัวไม่ทัน”นายชัยชาญกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน