รายงานพิเศษ

การที่ไทยตั้งอยู่ตรงจุดศูนย์กลางกลุ่มประเทศในเอเชีย ทำให้ไทยกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการลงทุน ผลิต การค้า การส่งออกและการขนส่ง ของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เอื้อให้ไทยสามารถผลักดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ให้กระจายไปยังทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้ง่าย เริ่มตั้งแต่จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา

ดังนั้น รัฐบาลจึงหันมาเร่งรัดจัดทำโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่เพื่อต่อยอดความสำเร็จจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เพื่อ เร่งขยายการส่งเสริมการลงทุน และยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

ผลักดันการเชื่อมโยงประตูเศรษฐกิจ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด ท่าอากาศยาน อู่ตะเภา กับโครงข่ายคมนาคมยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนถาวร

ระยะแรกมุ่งเน้นพื้นที่เป้าหมาย 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบและ มีประสิทธิภาพ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกด้วยตัวเอง ตั้งเป้าหมายยกระดับการลงทุนทุกด้านไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ใน 5 ปีแรก เพื่อให้เกิดฐานเทคโนโลยีใหม่ของประเทศ และเกิดการพัฒนาคน ทำให้รายได้ประชาชาติขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี

คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) จึงมอบให้อนุกรรม กรศ. โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม รับผิดชอบจัดทำแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม โดยเมื่อวันที่ 24 ก.ย.2560 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ได้เห็นชอบแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก จำนวน 168 โครงการ วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 998,948.10 ล้านบาท

โดยจัดทำเป็นแผนปฏิบัติลงทุนรวม 3 ระยะ ประกอบด้วย

ระยะที่ 1 แผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วน ระหว่างปี 2560-2561 ซึ่งเป็นแผนงานที่ต้องดำเนินการทันทีเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจภายในอีอีซี จำนวนรวม 8 แผนงานย่อย วงเงินรวม 217,412.63 ล้านบาท

ประกอบด้วยโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance, Repair and Overhaul : MRO) ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา, รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามท่าอากาศยาน, สถานีรถไฟอู่ตะเภา, ท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่ 3, ท่าเรือมาบตาพุด เฟสที่ 3, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์ เวย์) พัทยา-มาบตาพุด, อาคารผู้โดยสาร ท่าเรือจุกเสม็ด และการปรับปรุงโครงข่ายถนนสายรอง

2.แผนปฏิบัติการระยะกลาง ระหว่างปี 2562-2564 ซึ่งเป็นแผนงานที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องจากระยะเร่งด่วน เพื่อให้โครงข่ายการขนส่งสามารถรองรับกิจการทางเศรษฐกิจ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำนวน 7 แผนงานย่อย วงเงินรวม 414,360.60 ล้านบาท

ประกอบด้วยโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงแหลมฉบัง-มาบตาพุด, ทางวิ่งที่ 2 ท่าอากาศยานอู่ตะเภา, พื้นที่ขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo) ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ระยะที่ 1, เขตปลอดอากร (Free Zone) ท่าอากาศยาน อู่ตะเภา, มอเตอร์เวย์ ช่วงแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี, การปรับปรุงโครงข่ายถนนสายรอง และการเพิ่มโครงข่ายทางเลี่ยงเมือง

3.แผนปฏิบัติการระยะต่อไป เริ่มตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นแผนงานเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่อีอีซีอย่างยั่งยืน รวมถึงการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสนับสนุนให้อีอีซีเป็นประตูเศรษฐกิจของ CLMV อย่างสมบูรณ์ จำนวน 7 แผนงานย่อย วงเงินรวม 357,174.87 ล้านบาท

ประกอบด้วย โครงการรถไฟ ช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด, รถไฟเชื่อมอีอีซี-ทวาย-กัมพูชา, สถานีบรรจุและยกสินค้ากล่อง (ICD) ฉะเชิงเทรา, อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 อู่ตะเภา, พื้นที่ขนส่งสินค้าทางอากาศ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เฟส ที่ 2, มอเตอร์เวย์ ชลบุรี-อ.แกลง จ.ระยอง และการปรับปรุงโครงข่ายถนนสายรอง

หากจัดแบ่งวงเงินลงทุนตามประเภทโครงสร้างพื้นฐานสามารถแบ่งออกได้ 6 ประเภท ประเภทที่ใช้วงเงินลงทุนสูงสุดอันดับที่ 1 คือ โครงข่ายทางราง 9 โครงการ วงเงิน 398,592 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ โครงข่ายถนน 90 โครงการ วงเงิน 214,636.83 ล้านบาท, โครงข่ายขนส่งทางอากาศและโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้อง 20 โครงการ วงเงิน 173,844 ล้านบาท

โครงข่ายทางน้ำ 19 โครงการ วงเงิน 160,609.17 ล้านบาท, แผนพัฒนาระบบไฟฟ้า 12 โครงการ วงเงิน 40,459.73 ล้านบาท และแผนพัฒนาระบบประปา 18 โครงการ วงเงิน 806.36 ล้านบาท

การจัดหาแหล่งวงเงินลงทุนทั้งหมด 988,948.10 ล้านบาท รัฐบาลจัดหามาจากวงเงินงบประมาณ 30% วงเงินลงทุนของ รัฐวิสาหกิจ 10% วงเงินจากรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) 59% และ กองทุนหมุนเวียนจากกองทัพเรือ 1% โดยกระทรวงคมนาคมเตรียมเดินหน้าเต็มสูบเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซี

คาดว่าจะมีปริมาณการเดินทางและขนส่งสินค้าในพื้นที่โครงการมากขึ้น ช่วยให้ลดต้นทุนของรถบรรทุกได้ประมาณ 35.6 ล้านบาทต่อวัน หรือ 2.7% ลดต้นทุนรถไฟได้ประมาณ 2.3 แสนบาทต่อวัน หรือ 19.7% พร้อมจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางลงได้

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า กรศ.เห็นชอบแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครง สร้างพื้นฐานภายในพื้นที่อีอีซีในการพัฒนา โลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ เชื่อมโยงทั้งทางบก น้ำ อากาศ เพื่อรองรับการพัฒนาอีอีซีมุ่งสู่ การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค ตั้ง เป้าให้ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลาง และเมืองการบินของภูมิภาค และให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูเศรษฐกิจของซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และ อนุภูมิภาค

ทั้งนี้ แบ่งเป็นงบที่ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) 59% วงเงิน 583,500 ล้านบาท งบประมาณแผ่นดิน 30% วงเงิน 296,684 ล้านบาท งบรัฐวิสาหกิจ 10% วงเงิน 98,895 ล้านบาท และกองทุนหมุนเวียน (กองทัพเรือ) คิดเป็น 1% แบ่งแผนดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยพัฒนาระบบการขนส่งให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้แข่งขันกับประเทศอื่นได้ และเมื่อรวมกับโครงข่ายภายนอกพื้นที่อีอีซีจะลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้ถึง 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หรือ ปีละ 200,000 ล้านบาท ทำให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนเพิ่มเติม ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้กว่า 2.1-3.0 ล้านล้านบาท และประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการเข้าถึง ระบบขนส่งมวลชนคุณภาพสูง” นายชัยวัฒน์กล่าว

ส่วน นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ระบุว่า ที่ประชุมมีมติเห็น ชอบประกาศเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเพิ่มเติม 18 แห่ง ภายในเดือนก.พ.2561 เงินลงทุนประมาณ 1.25 ล้านล้านบาท

แบ่งเป็นจังหวัดระยอง 5 แห่ง จังหวัดชลบุรี 12 แห่ง และจังหวัดฉะเชิงเทรา 1 แห่ง จากเดิมที่มีการกำหนดไปแล้ว 2 นิคม ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ต ปาร์ก (Smart Park) จังหวัดระยอง และนิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด แห่งที่ 4 จังหวัดระยอง

นอกจากนี้ เห็นชอบการยกระดับนิคมอุตสาหกรรม ซี.พี. ระยอง เป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรม รองรับ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่สื่อสารด้วยภาษาจีนเป็นเขต ส่งเสริมแห่งที่ 19 ทำให้พื้นที่อีอีซีมีเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 21 แห่ง รวมพื้นที่ 86,775 ไร่ รองรับการลงทุน 28,666 ไร่ คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 1.31 ล้านล้านบาท

รายละเอียดทั้งหมดจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอีอีซี (กนศ.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาเห็นชอบในวันที่ 1 ก.พ.นี้

ทั้งหมดเพื่อผลักดันให้อีอีซีเป็นศูนย์กลาง เป็นประตูเชื่อมเพื่อนบ้านในอาเซียนทั้งหมด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน