นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (ABAC) 2022 เปิดเผยถึงผลการประชุมสภาฯ ครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่เมืองฮาลอง ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 26-29 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อรวบรวมข้อเสนอในเวทีการประชุมเอเปกปลายปีในไทยว่าที่เตรียมเสนอวาระเร่งด่วน 5 ข้อต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเปกเพื่อเร่งฟื้นตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และการกระตุ้นให้เกิดการพลิกฟื้นสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ประกอบด้วย 1. เร่งรัดเขตการค้าเสรีของเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการค้าภาคบริการภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมนวัตกรรม โดยเฉพาะเกี่ยวกับบริการดิจิทัลที่สนับสนุนอีคอมเมิร์ซ, บริการทางโลจิสติกส์, บริการด้านสุขภาพ และบริการด้านสิ่งแวดล้อม 2. สร้างแพลตฟอร์มในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับภูมิภาค ที่จะประสานการดำเนินการและการลงทุนด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ร่วมกัน

3. พัฒนามาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย (Micro Small and Medium Enterprises: MSMEs) ให้เติบโตอย่างยั่งยืน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การฝึกอบรม การบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่คุณค่า โดยสนับสนุนให้เป็นมาตรการสากล

4. ส่งเสริมระบบอาหารยั่งยืน เพื่อแก้ปัญาราคาอาหารโลกที่พุ่งสูงกระทบต่อ ผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมถึงภาวะการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตร โดยคณะทำงานได้เร่งดำเนินการ ‘แผนงานความมั่นคงด้านอาหารของ APEC สู่ปี 2030’ และให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาและการดำเนินการตามแผนดิจิทัลความมั่นคงด้านอาหาร ในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต การจำหน่ายและการค้า ตลอดจนการนำ Bio-Circular-Green (BCG) มาปรับใช้

และ 5. การดำเนินการตามมาตรการเศรษฐกิจมหภาค การคลัง และการเงิน เพื่อเร่งการฟื้นตัว ควบคุมภาวะเงินเฟ้อ และนโยบายทางการเงินด้านอัตราค่าจ้างแรงงาน โดยในระยะยาว คณะทำงานเชื่อว่ารัฐบาลควรปฏิบัติตาม 2 เป้าหมาย คือการการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง และการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างในการพัฒนาสู่ระบบดิจิทัลและความยั่งยืนอย่างครอบคลุม

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ สมาชิกสภาฯ ที่ กล่าวว่า เอเปกควรยกระดับความเข้มข้นความยั่งยืนด้านอาหารที่นำเทคโนโลยีและ BCG มาปรับใช้ และให้เพิ่มความพยายามขึ้นเป็น 2 เท่าเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และยับยั้งข้อห้ามและข้อจำกัดต่างๆ ในการส่งออกและการร่วมมือข้ามพรมแดนระหว่างกันในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับระบบนิเวศอาหาร เพื่อให้มั่นใจว่า ภาคเอกชนสามารถมีบทบาทสำคัญ ในความร่วมมือด้านนโยบายของเอเปคเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร

นายกอบศักดิ์ ดวงดี สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก กล่าวว่า ควรเร่งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการค้า อาทิ การจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรักษาความปลอดภัยของระบบดิจิทัล (Cybersecurity) เสริมโครงสร้างข้อมูลพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการค้าดิจิทัล (Data Infrastructure for Digital Trade) การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย (MSMEs) ในการใช้เทคโนโลยี และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการชำระเงินในตลาดดิจิทัล (Digital Market Infrastructure) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและยกระดับมาตรฐานบริการของภาคเอกชนในภูมิภาค

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน