นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ยอมรับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) งวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 2565 ตามมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 ในอัตรา คือ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 68.66 สตางค์ต่อหน่วย จากงวดปัจจุบันเดือนพ.ค.-ส.ค. 2565 ที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้ เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน 3.79 บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายจะอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย

โดยนายกฯ สั่งให้กระทรวงพลังงาน เร่งหามาตรการรองรับเพื่อช่วยเหลือ โดยจะต้องเร่งหารือกับสำนักงาน กกพ. ด้วยว่าจะยังคงยืนยันตามมติเดิมหรือไม่ และหากกกพ. จะปรับขึ้นค่าเอฟทีจะขึ้นเท่าเดิมหรือขึ้นแค่ไหน แล้วมาตรการช่วยเหลือประชาชนไม่ให้เกิดผลกระทบจะเป็นอย่างไร

“นายกฯ เป็นห่วงเรื่องผลกระทบ เพราะถ้าขึ้นแล้วจะมีมาตรการอะไรมาช่วยเหลือ จึงต้องหารือกับกกพ. เพราะเป็นหน่วยงานที่กำกับและดูเรื่องนี้โดยเฉพาะ ส่วนการจะทบทวนหรือปรับเปลี่ยนมติบอร์ดกกพ. ที่ออกไปแล้วหรือไม่นั้น ส่วนตัวจะไปก้าวล่วง เพราะเป็นหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงของ กกพ. สิ่งที่กกพ. ดูอยู่คือ ถึงเวลาที่จะต้องดำเนินการ เพราะต้นทุนผันแปรเพิ่ม อันนี้ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงจะต้องดู หากถ้าขึ้นค่าเอฟทีจริงๆ มาตรการที่รัฐจะช่วยเหลือจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย เป็นสิ่งที่ต้องหารือร่วมกัน” นายกุลิศ กล่าว

ส่วนการแบกรับภาระค่าเอฟทีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นั้น ยอมรับว่าก็มีความเป็นห่วงมาก ซึ่งรัฐบาลก็จะเข้ามาดูแล เพราะค่าเอฟทีจะกระทบไปถึงสภาพคล่องของกฟผ. ด้วย โดยภาครัฐจะเข้าไปดูว่าในการที่กฟผ. ได้เข้าไปช่วยแล้วขาดอะไรไปอย่างไรบ้าง และจะต้องมีการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างไรบ้าง ตอนนี้กำลังทำมาตรการต่างๆ อยู่ อาทิ เงินกู้เพิ่มเติม เป็นต้น

รายงานข่าวระบุว่า การที่กกพ. มีมติปรับขึ้นค่าเอฟทีดังกล่าว เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงและผลจากเงินบาทที่อ่อนค่า โดยการปรับค่าเอฟทีครั้งนี้ ถือเป็นอัตราต่ำสุดแล้ว เพราะยังไม่มีการคืนหนี้ให้กับกฟผ. ที่แบกรับต้นทุนเชื้อเพลิงมาตั้งแต่ปี 2564 และหากต้องรับภาระค่าเอฟทีงวดใหม่นี้ จะทำให้กฟผ. แบกภาระราว 1.7 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 การไฟฟ้า ประกอบด้วย กฟผ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้ออกประกาศตามอัตรางวดใหม่ให้ประชาชนได้รับทราบตามมติกกพ.ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้พิจารณาทบทวนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลประจำสัปดาห์ โดยมีมติให้คงราคาน้ำดีเซลไว้ที่ลิตรละ 34.94 บาท โดยเป็นการตรึงราคาต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 8 ทั้งนี้เพื่อมีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม

สำหรับประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน วันที่ 7 ส.ค. 2565 ติดลบ 117,229 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 76,784 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 40,445 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน