เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า ได้นำทีมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจำนวนกว่า 20 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอความอนุเคราะห์จากนายกฯ ให้พิจารณาดำเนินการเร่งด่วน ดังนี้

1. ขอให้สินค้ากุ้งเป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาลเห็นความสำคัญ มีมาตรการการผลิตกุ้งในประเทศ เป้าหมายเพื่อวัตถุดิบกุ้ง 400,000 ตัน เพื่อการส่งออก ให้ได้ในปี 2566 อย่างเป็นรูปธรรม (ผลผลิตไม่ใช่มาจากการนำเข้า) – สินค้ากุ้งเคยเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้เข้าประเทศได้ปีละมหาศาลมาอย่างต่อเนื่อง กว่า 100,000 ล้านบาท ในปี 2553 จากที่ผลิตกุ้งได้ถึง 640,000 ตัน แต่หลังจากประสบปัญหาโรคตายด่วน หรือ EMS และโรคอื่นๆ ตั้งแต่ปลายปี 2554 ผลผลิตกุ้งต่ำกว่า 3 แสนตัน

และตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ไทยสูญเสียโอกาส-รายได้การส่งออกกว่า 500,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ สมาคมจึงขอให้ นายกฯ มาเป็นประธาน ให้มีทุกภาคส่วนสำคัญ อาทิ ภาคการผลิต-เกษตรกร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ฯลฯ มาบูรณาการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด ฉับไว มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องเกษตรกร และสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมได้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง รวมถึงความยั่งยืนในระยะยาวของอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศ

2. แก้ไขปัญหาเรื่องโรค ให้พี่น้องเกษตรกรสามารถเลี้ยงกุ้งได้ โดยเร็วที่สุด โดยจัดสรรงบประมาณ บุคลากร ฯลฯ ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างเต็มที่ เพื่อดำเนินการศึกษาวิจัย การดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาโรคให้สำเร็จ

3. สินค้ากุ้งเป็นสินค้าสำคัญของประเทศที่จำเป็นต้องได้รับการปกป้องดูแลอย่างเข้มแข็งจากรัฐ การนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศเป็นเรื่องอ่อนไหวที่สุดขอให้ช่วยดูแล-ปกป้อง สนับสนุนส่งเสริมภาพลักษณ์ แบรนด์สินค้ากุ้งไทย (Branding) ให้เป็นที่ยอมรับฯ รวมถึงเรื่องเชื้อโรคกุ้งที่มีอยู่ปัจจุบัน-/โรคอุบัติใหม่ที่อาจแฝงมากับกุ้งนำเข้า

“ที่น่าห่วงอย่างยิ่งคือถึงวันนี้ยังแก้ปัญหาไม่ได้ วิธีที่รัฐพยายามช่วยยังไม่เวิร์ก/ไม่ตอบโจทย์ อีกทั้งการที่สื่อต่างประเทศได้เผยแพร่ข่าวว่ารัฐบาลของสาธารณรัฐเอกวาดอร์ ได้ประกาศให้กุ้งเอกวาดอร์สามารถส่งออกไปยังตลาดประเทศไทยได้อีกครั้ง เพราะเอกวาดอร์สามารถดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัย และความปลอดภัยทางชีวภาพได้ กรมประมงไทยยอมรับและมีประกาศอนุญาตให้มีการนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์ และอินเดียนั้น สมาคมเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวอย่างยิ่ง ต่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมกุ้งไทยในระยะยาว อาจสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ แบรนด์สินค้ากุ้งไทย (Branding) ความเชื่อมั่นในสินค้ากุ้งไทยของผู้นำเข้าและผู้บริโภค ที่สำคัญส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งภายในประเทศในระยะกลาง และระยะยาว เช่น ส่งผลกระทบโดยตรงราคากุ้งภายในประเทศ อาจนำกุ้งที่ติดเชื้อแฝง-/ความเสี่ยงนำโรคเก่า/โรคใหม่เข้ามาเข้าประเทศสร้างความเสียหาย ทำให้เกษตรกรในประเทศอ่อนแอ-ไม่มีโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาให้เข้มแข็งและมีความสามารถในการแข่งขันฯ รวมถึงโอกาสที่อุตฯกุ้งของประเทศจะได้รับการพัฒนาด้านต่างๆ น้อยลง ฯลฯ”

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน