นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนก.ค. 2565 อยู่ที่ระดับ 89.0 เพิ่มขึ้นจากระดับเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 86.3 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันและสูงสุดในรอบ 4 เดือน

เนื่องจากภาคการผลิตที่ขยายตัวจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภค จากตลาดในประเทศและตลาดส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย เป็นต้น

นอกจากนี้ การผ่อนคลายล็อกดาวน์เมืองสำคัญของจีนส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย การเปิดประเทศและการยกเลิก Thailand Pass ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้นและช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก รายได้ในภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อกำลังซื้อในส่วนภูมิภาค ส่งผลให้ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 97.5

อย่างไรก็ตาม แม้ราคาน้ำมันตลาดโลกเดือนก.ค.จะทยอยลดลง แต่ปัญหาราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน รวมถึงค่าขนส่งที่ยังทรงตัวในระดับสูง ปัญหาเงินเฟ้อยังกดดันกำลังซื้อของประชาชน ภาคเอกชนจึงขอให้ภาครัฐพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งค่าไฟฟ้าอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย

“ส.อ.ท. ขอให้รัฐพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามความเห็นของคณะกรรมการไตรภาคี โดยเบื้องต้นทราบว่าเฉลี่ยค่าแรงขั้นต่ำจะขึ้นประมาณ 5-8% ซึ่งหากความเห็นของไตรภาคีภาคเอกชนรับได้และหากยึดตามกลไกที่ผ่านมาควรจะมีผลทางปฏิบัติในวันที่ 1 ม.ค.2566 เนื่องจากผู้ใช้แรงงานเข้มข้น จะได้รับผลกระทบมากสุด แต่ที่สุดทุกรายก็จะได้รับผลกระทบเช่นกันหมด”

นายเกรียงไกร กล่าวว่า เช่นเดียวกับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่เดือนก.ย.-ธ.ค. 2565 ที่จะปรับขึ้นอีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้อัตราค่าไฟเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนปรับขึ้นสู่ระดับ 4.72 บาทต่อหน่วยนั้น หากชะลอได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี เพราะต้องยอมรับว่าค่าไฟของไทยเทียบกับเวียดนามแล้วแพงกว่า 30% ขณะที่ปีนี้เวียดนามประกาศตรึงค่าไฟตลอดทั้งปีระดับที่ 2.88 บาทต่อหน่วย ทำให้ไทยเสียเปรียบด้านการแข่งขัน

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการยังมีความกังวลการกลับมาระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ 0.75% ซึ่งจะกระทบต้นทุนด้านการเงิน รวมถึงสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังมีความไม่แน่นอนส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบรวมถึงเศรษฐกิจโลก

นายเกรียงไกร กล่าวว่า อีกทั้งกรณีข้อพิพาทบริเวณช่องแคบไต้หวัน มีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐช่วยดูแลผลกระทบด้าน Supply Chain Shortage พร้อมเร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบจากกรณีรัฐบาลเมียนมา ออกประกาศ ระงับการชำระหนี้ต่างประเทศ เช่น ชะลอการชำระหนี้หรือให้ชำระเฉพาะดอกเบี้ยยกเว้นเงินต้น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือนักลงทุนไทยและการให้สถาบันทางการเงินไทยในเมียนมาเข้ามาช่วยเหลือในการรับชำระหนี้เป็นเงินจ๊าด และเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด และเชื่อมโยงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค

โดยจากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,238 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของส.อ.ท. พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก 72.2% สถานการณ์การเมือง 40.3% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 35.5%

ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน 80.7% เศรษฐกิจในประเทศ 51.8% สถานการณ์ระบาดของโควิด 50.1% และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 32%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน