นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2565 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมรับทราบ ความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในช่วง 4 ปีแรก (2561-2565) เกิดการอนุมัติงบลงทุนสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท เกินเป้าหมาย 1.7 ล้านล้านบาท ใน 5 ปีที่เป็นแผนแรกของอีอีซี สามารถดึงเทคโนโลยีใหม่ผ่านการลงทุนจากการอนุมัติการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเดิมมีสัดส่วน 70% ของการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด และ 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่มีสัดส่วนการลงทุน 36% และเพิ่มขึ้นเป็น 49% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้

นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างระบบการพัฒนาบุคลากรตามความต้องการของตลาด (Demand Driven) แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่ทำงานกับนวัตกรรมใหม่ อบรมไปได้แล้ว 16,114 คน ตั้งเป้าหมายสิ้นปี 2566 จะดำเนินการได้ 100,000 คน ส่วนผลประโยชน์ตกถึงประชาชนทางตรงได้รับโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณสุข สาธารณูปโภค (น้ำ ไฟฟ้า ขยะ) ทันสมัยเพียงพอ มีโอกาสมีงานทำ รายได้ดี มีโครงการสินเชื่อพ่อค้า-แม่ขาย และเอสเอ็มอีหลังสถานการณ์โควิด กับ 9 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งปล่อยกู้ไปแล้ว 51,420 ราย เป็นสินเชื่อ 34,548 ล้านบาท ทั้งยังมีระบบ 5G ครอบคลุมมากที่สุดในอาเซียน ทำให้บริษัทชั้นนำด้านดิจิทัล หันมาลงทุนในอีอีซี ซึ่งอนาคตจะเป็นธุรกิจไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี

โครงสร้างพื้นฐาน 4 โครงการหลัก เข้าสู่ช่วงการก่อสร้างปลายปีนี้ และมีกำหนดการแล้วเสร็จในปี 2568-2569 โดยเป้าหมายการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ช่วงปี 2566-70 จะมีเงินลงทุนประมาณปีละ 400,000-500,000 ล้านบาท อีอีซีน่าจะขยายตัวได้ 7-9% ต่อปี ทำให้ไทยขยายตัวได้ประมาณ 5% ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ผลักดันให้อีอีซีก้าวเข้าสู่ระยะการขยายตัวที่สำคัญในปี 2569

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน