กรมชลประทาน เดินหน้าสูบน้ำท่วมขังนาข้าวทุ่งโพธิ์พระยา เร่งระบายน้ำแม่น้ำท่าจีนออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ชี้หากฝนไม่ตกเพิ่ม จะกลับสู่ภาวะปกติใน 1 สัปดาห์

กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำแม่น้ำท่าจีนลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด เตรียมรับน้ำเหนือ พร้อมเร่งสูบน้ำที่ท่วมขังนาข้าวในพื้นที่ทุ่งโพธิ์พระยา จ. สุพรรณบุรี ให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวได้ภายในกลางเดือนกันยายนนี้

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2565 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ลดการรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่แม่น้ำท่าจีน ซึ่งรับน้ำผ่านประตูระบายน้ำพลเทพ จ.ชัยนาท จากอัตรา 200 ลบ.ม./วินาที เหลือเพียง 20 ลบ.ม./วินาที เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่จ.สุพรรณบุรี ทำให้มีน้ำท่วมขังพื้นที่ปลูกข้าวนาปี ในเขตทุ่งโพธิ์พระยา อ.บางปลาม้า อ.สองพี่น้อง และอ.อู่ทอง

โดยปกติน้ำในทุ่งโพธิ์พระยาจะระบายลงสู่ลำน้ำต่างๆ ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน แต่เนื่องจากปริมาณน้ำในลำน้ำต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น ทำให้น้ำที่ขังอยู่ในทุ่ง ไม่สามารถไหลลงได้อย่างสะดวก จำเป็นต้องลดการรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่แม่น้ำท่าจีน พร้อมเดินเครื่องผลักดันน้ำ ที่ติดตั้งไว้ตั้งแต่ท้ายประตูระบายน้ำโพธิ์พระยาลงไป เร่งระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยที่ จ.สมุทรสาคร

นายประพิศ กล่าวต่อว่า ส่วนพื้นที่นาข้าวที่มีน้ำท่วมขัง ในเขตทุ่งโพธิ์พระยา ได้เร่งสูบน้ำที่ท่วมขังออกให้หมด หากไม่มีปริมาณฝนตกในพื้นที่เพิ่มเติม คาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติใน 1 สัปดาห์ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายในกลางเดือน ก.ย.

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยา วันนี้(15 ส.ค. 65) ระดับน้ำเริ่มทรงตัว ที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,352 ลบ.ม./วินาที ใกล้เคียงกับวานนี้ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 4.93 เมตร ควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่สถานี C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ในอัตราประมาณ 1,200 ลบ.ม./วินาที เท่ากับวานนี้

ส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำเริ่มทรงตัว ได้แก่ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด อ.ผักไห่ และต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย)

นายประพิศ กล่าวอีกว่า ด้านปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 11,852 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 13,000 ล้าน ลบ.ม.

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงการเตรียมรับสถานการณ์น้ำในช่วงน้ำหลากที่กำลังจะมาถึง ตามข้อสั่งการของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับโครงการชลประทานทุกแห่งและสำนักเครื่องจักรกลให้เร่งรัดตรวจสอบความพร้อมของสถานีสูบน้ำ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ บานระบาย และอุปกรณ์บังคับน้ำ ตลอดจนเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ ให้พร้อมใช้งาน รวมถึงกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อให้ระบายน้ำได้รวดเร็ว หากเกิดอุทกภัยให้บูรณาการกับหน่วยงานราชการในพื้นที่และทุกภาคส่วนเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน