นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า Krungthai COMPASS ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ขยายตัว 3.2% ในปี 2565 สูงกว่าประมาณการเดิมที่ 3.0% และจะขยายตัวต่อเนื่องปี 2566 ที่ 4.2% เนื่องจากประเมินว่าได้รับแรงหนุนจากการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีกว่าคาด ในขณะที่แนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนยังไปได้ การบริโภคภาคเอกชนมองเป็นบวกจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ โครงการคนละครึ่งเฟส 5 ซึ่งคาดว่าจะมีเงินสะพัด 38,000 ล้านบาท ช่วยผลักดันจีดีพีได้ 0.2%

“จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปีนี้จะฟื้นสู่ระดับ 8.1 ล้านคน สูงกว่าประมาณการเดิมที่ 6.4 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 21.3 ล้านคนในปี 2566 หรือครึ่งทางของภาวะปกติ การลงทุนภาคเอกชนประเมินจะขยายตัว 3.8% การบริโภคในประเทศจะขยายตัว 4% อย่างไรก็ดี หลายภาคส่วนได้รับอานิสงส์ของภาพรวมที่ดีขึ้นไม่มากนัก ทำให้ยังมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจช่วยประคับประคองต่อไป”

สำหรับครึ่งปีหลังของปีนี้มีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง จากความเสี่ยงระยะข้างหน้ายังมีอยู่ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงระยะสั้น คือ ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูง และสิ่งที่คาดไม่ถึงกระทบการท่องเที่ยว อย่าง โรคระบาดกลับมารุนแรง ส่วนภาวะเงินเฟ้อนั้น คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นจาก 5.6% ในครึ่งปีแรกเป็น 6.6% ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 6.1% ก่อนจะชะลอตัวลงสู่ระดับ 2.0% ในปี 2566 จากการคลี่คลายของภาวะชะงักงันด้านอุปทาน รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ช่วยลดแรงกดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์

ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนั้น คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป สู่ระดับ 1.25% ในสิ้นปี 2565 และ 2.00% ในสิ้นปี 2566 อย่างไรก็ตาม Krungthai COMPASS มองว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเป็น The New K-shaped Economy โดยปัจจัยเสี่ยงใหม่จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนสูง ทำให้ธุรกิจที่เติบโตได้ดีในช่วงที่ผ่านมาอย่างธุรกิจส่งออกเผชิญความท้าทายมากขึ้น

นายฉมาดนัย มากนวล ผู้อำนวยการฝ่าย Business Risk and Macro Research กล่าวว่า ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จะทำให้การส่งออกในระยะข้างหน้าแผ่วลงเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวได้สูงถึง 12.7% โดยการส่งออกในปี 2565 จะขยายตัวที่ 7.5% ส่วนในปี 2566 จะขยายตัว 2.5%

ด้านนายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Markets กล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้จนถึงปีหน้า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทจะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ทิศทางเงินดอลลาร์สหรัฐ ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่สะท้อนผ่านดุลบัญชีเดินสะพัด และทิศทางกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งประเมินว่าค่าเงินบาทมีโอกาสทยอยกลับมาแข็งค่าในช่วงปลายปีนี้ อยู่ที่ระดับ 34.25-34.50 บาทต่อดอลลาร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน