นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า คลังจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มียอดขายไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี และมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับลูกจ้าง ให้นำค่าใช้จ่ายจากค่าจ้างทั้งหมด มาหักลดหย่อนภาษีได้ 1.15 เท่า จากเดิมนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนได้ 1 เท่า โดยมีผลในช่วง 1 เมษายน-31 ธันวาคม 2561

ทั้งนี้ คลังเชื่อว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยลดภาระผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้มาก เพราะเป็นการนำค่าจ้างทั้งหมด มาคำนวนเป็นรายจ่าย ไม่ใช่เฉพาะค่าจ้างในส่วนที่ปรับเพิ่มขึ้นเหมือนมาตรการที่ผ่านมา เช่น หากมีการปรับขึ้นค่าแรงเพิ่ม 20 บาท ทำให้ค่าแรงต่อวันเพิ่มเป็น 320 บาท ก็นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการหักลดหย่อนได้ทั้งหมด จากเดิมที่รัฐจะช่วยในส่วนที่เพิ่มเท่านั้น ส่งผลให้เมื่อมีการคำนวนคร่าวๆ รัฐจะเข้าไปชดเชยค่าแรงให้กับผู้ประกอบการได้กว่าครึ่งหนึ่ง เช่น ขึ้นค่าแรง 20 บาท แต่เมื่อนำมาคำนวนรายจ่ายค่าจ้างทั้งจำนวน รัฐให้หักลดหย่อนได้ถึง 9-10 บาท

“เศรษฐกิจเริ่มดี ผู้ประกอบการก็มีรายได้ดีขึ้น แต่ก็ไม่ควรเก็บไว้คนเดียว ต้องมีการกระจายรายได้ออกไปด้วย แรงงานก็ควรได้รับผลตอบแทนที่ดี จากที่ผ่านมาในช่วง 4 ปี ค่าแรงเพิ่มขึ้นแค่ 4% หรือเฉลี่ยปีละ 1% ซึ่งถือว่าต่ำมาก” นายอภิศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไม่มาก แต่สามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอี และบรรเทาความเดือดร้อน ได้จำนวนมาห

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ค่าจ้างแรงงานในไทยใช้อัตราคงที่มาหลายปี ซึ่งเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ แต่ปีนี้สถานการณ์ดีขึ้น เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี เอกชนเริ่มมีการลงทุนมากขึ้น ทุกอย่างไปในทิศทางเดียวกัน ถ้าไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงตามไปด้วย ก็จะเกิดความวุ่นวายขึ้นมาอีก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน