นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. ร่วมกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยประเมินแนวโน้มสถานการณ์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าโลก พบว่าปัจจุบันประเทศไทยเริ่มตื่นตัวและมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 103,702 คัน เป็นยานยนต์ทั้งแบบไฮบริด 92,702 คัน ปลั๊กอินไฮบริด 9,606 คัน และยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (บีอีวี) 1,394 คัน โดยยังคงตั้งเป้าหมายส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในไทย 1.2 ล้านคัน ทั้งแบบยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด และยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ภายในปี 2579

ทั้งนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกับหลายประเทศทั่วโลกที่กำหนดนโยบายเลิกจำหน่ายยานยนต์ประเภทเครื่องยนต์ในอนาคต อาทิ ประเทศเนเธอร์แลนด์ เยอรมัน นอร์เวย์ และอินเดียเริ่มใช้นโยบายนี้ตั้งแต่ปี 2568 ประเทศอังกฤษ สวีเดน และฝรั่งเศสเริ่มใช้ปี 2583 เป็นต้น

ส่วนกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา นั้น ล่าสุดนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน สั่งการให้เร่งปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2015) โดยเร็วเพื่อให้เกิดความชัดเจนและนำเสนอกระทรวงพลังงานพิจารณาก่อนวันที่ 31 มี.ค. ที่กำหนดไว้ตามแผนเดิม เนื่องจากกระทรวงพลังงานให้ความสำคัญถึงความมั่นคงด้านพลังงานของภาคใต้ เพื่อรองรับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและความต้องการใช้ในพื้นที่ให้มีความสมบูรณ์และมีเสถียรภาพมากที่สุด

นายทวารัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2560 มีมติลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของบัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ลงมาอยู่ที่ 4.78 บาท/กิโลกรัม จาก 6.35 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากราคาก๊าซแอลพีจีตลาดโลกขณะนี้อยู่ในช่วงขาลง โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลง 34 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งเป็นจังหวะดีที่กระทรวงจะลดนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่ออุดหนุนราคา 1.50 บาท/กิโลกรัม ทำให้ราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจียังคงราคาเดิมอยู่ที่ 19.82 บาท/กิโลกรัม

ด้านนายยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า ปีนี้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานตั้งเป้าหมายสนับสนุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ได้ 150 หัวจ่าย โดยระหว่างวันที่ 1-30 มี.ค. 2561 จะเปิดรับสมัครผู้สนใจขอรับเงินช่วยเหลือในการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้ารอบที่ 5 ระยะแรกเพิ่มเติมอีก 31 หัวจ่าย โดยส่วนราชการจะได้รับเงินสนับสนุนรวมค่าติดตั้งสำหรับหัวจ่ายแบบเร่งด่วน 1.8 ล้านบาท หัวจ่ายแบบธรรมดา 1.9 แสนบาท ส่วนรัฐวิสาหกิจได้ค่าสนับสนุนหัวจ่ายแบบเร่งด่วน 1 ล้านบาท และภาคเอกชนได้รับสนับสนุนในอัตรา 30% ของราคาหัวจ่ายแบบเร่งด่วน

ทั้งนี้ เป็นการเปิดรับสมัครรอบสุดท้ายเพิ่มเติมจากที่ผ่านมามีหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชนขอรับการสนับสนุนจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า 4 รอบรวมแล้ว 94 หัวจ่าย เป็นสถานีอัดประจุไฟฟ้าหัวจ่ายแบบธรรมดา 60 หัวจ่าย และสถานีอัดประจุไฟฟ้าหัวจ่ายเร่งด่วน 34 หัวจ่าย ซึ่งติดตั้งแล้วเสร็จ 21 หัวจ่าย

นอกจากนี้ ยังเสนอให้นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) พิจารณามาตรการลดหย่อนภาษีจูงใจให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อีอีซีใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศไทยเอง ขณะเดียวกัน ภายในปีนี้ยังมีบริษัท ไรซน เอนเนอร์จี จำกัด (Rizen) จากประเทศจีน เตรียมนำเข้าและจัดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ “บีวายดี” ราคาคันละ 1.89 ล้านบาท จำนวน 500 คัน เข้ามาทำเป็นรถแท๊กซี่พรีเมี่ยมให้บริการลูกค้าในโรงแรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน