นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเยี่ยมชมโครงการเขื่อนโรงไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร จ.จันทบุรี ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ ถึงกรณีที่กลุ่มเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้ายื่นหนังสือต่อกระทรวงพลังงานเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ในวันที่ 5 ก.พ. 2561 ว่า กระทรวงพร้อมรับคำเสนอแนะจากประชาชนในพื้นที่อย่างไม่ปิดกั้น ทั้งนี้ การสร้างโรงไฟฟ้าจะใช้พื้นที่จำนวน 700 ไร่ แต่ปัจจุบันยังติดปัญหาว่าส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นที่ตั้งของชุมชน มีบ้านเรือน มัสยิด โรงเรียน และที่ทำการเกษตร ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้

“เบื้องต้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ที่เข้าไปเจรจากับคนในพื้นที่ชุมชนอยู่แล้ว ซึ่งกระทรวงก็ต้องการคำตอบจากคนในพื้นที่ว่ายินยอมให้ใช้พื้นที่ได้หรือไม่ ถ้าเห็นด้วยและในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องระบุว่าสามารถดำเนินการใช้พื้นที่สาธารณะสร้างโรงไฟฟ้าได้ กระทรวพร้อมที่จะเดินหน้าเต็มที่ แต่ก็ไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าจะแล้วเสร็จก่อนระยะเวลา 3 ปีหรือไม่ แต่หากคนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องไปศึกษาในที่อื่นๆ เพิ่มเติม”นายศิริ กล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงยืนยันว่าไม่ได้ยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ แต่ที่ชะลอออกไป 3 ปี เพราะต้องการเห็นความชัดเจนก่อนการดำเนินงาน ทั้งความเหมาะสมของพื้นที่และความต้องการของคนในชุมชน ซึ่งมั่นใจว่ามีพื้นที่ที่แน่ชัดแล้วกระทรวงจะดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้เทคโนโลยีใหม่ ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน และเชื้อเพลิงถ่านหินยังสามารถช่วยลดภาระค่าไฟลงได้อีกด้วย

นายศิริ กล่าวเพิ่มเติมถึงการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการสำคัญ จ.ตราด และ จ.จันทบุรี ในโครงการพลังน้ำคิรีธาร และคลองทุ่งเพล สร้างประโยชน์การผลิตไฟฟ้า เสริมระบบชลประทานให้แก่เกษตรกรได้อย่างดี ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้ารวมแล้วกว่า 847 ล้านหน่วย จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบสร้างรายได้มากกว่า 1,600 ล้านบาท และพื้นที่เพาะปลูกกว่า 89,000 ไร่ ได้ประโยชน์จากการบริหารจัดการน้ำ และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรแก่เกษตรกรส่วนใหญ่ของ จ.จันทบุรี สามารถส่งน้ำเพื่อการเกษตรครอบคลุม 4 ตำบล คือ ต.พลวง ต.ตะเคียนทอง ในเขต อ.เขาคิชฌกูฏ และ ต.วังแซ้ม ต.ฉมัน ในเขต อ.มะขาม รวมประมาณ 25 หมู่บ้าน 2,580 ครัวเรือน

รายงานข่าวแจ้งว่า การที่ตัวแทนเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เข้ายื่นหนังสือแถลงการณ์ถึงรมว.พลังงาน เพื่อขอให้ชี้แจงและแสดงจุดยืนความต้องการโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยในหนังสือขอให้บรรจุโรงไฟฟ้าถ่านหินไว้ในแผนหลักของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2015) ใหม่เหมือนเดิม รวมทั้งขอให้มีการเร่งรัดดำเนินการพิจารณาผลการศึกษารายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (อีเอชไอเอ) ทั้งของโรงไฟฟ้าและท่าเทียบเรือให้เป็นไปตามขั้นตอน และอนุมัติให้โครงการไฟฟ้าถ่านหินเทพาเต็มหน้าโดยเร็วต่อไป พร้อมเรียกร้องขอคำตอบจากรัฐบาลภายใน 45 วัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน