คมนาคมเดินหน้าก่อสร้างไฮสปีดเทรน กทม.-โคราชตอนที่เหลือ ยัน เม.ย.ประมูลตอนที่ 2 มั่นใจปีนี้ ครบทั้ง 13 สัญญา

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟไทยจีน หรือรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 253 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 1.79 แสนล้านบาทว่า ขณะนี้การพิจารณารายละเอียดเพื่อดำเนินการก่อสร้างตอนที่ 2 ช่วงปากช่อง-คลองขนานจิตร ระยะทาง 11 กม. ตอนที่ 3 ช่วงแก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 119.5 กม. และตอนที่ 4 ช่วงแก่งคอย-บางซื่อ ระยะทาง 119 กม.ยังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ภายหลังได้ลงเริ่มก่อสร้างตอนที่ 1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม.ไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา

“ตอนนี้ทางจีนได้ทยอยส่งรายละเอียดการออกแบบก่อสร้างตอนที่ 2 ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)พิจารณาอย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่าจะเริ่มทยอยเปิดประกวดราคาเพื่อหาผู้รับเหมาเข้ามาก่อสร้างเพิ่มเติมได้ในเดือนเมษายนนี้”

นายพีระพล กล่าวว่า สำหรับการพิจารณารายละเอียดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบการก่อสร้างในตอนที่ 2 จนถึงตอนที่ 4 จะใช้ระยะเวลาไม่นานเหมือนตอนที่ 1 เนื่องจากที่ผ่านมาได้ข้อสรุปเกี่ยวกับรายละเอียดวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ในการก่อสร้างหมดแล้ว และทางจีนก็มีการส่งรายละเอียดให้ไทยเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้ไทยสามารถถอดแบบได้ ซึ่งจะแต่แตกต่างจากเดิมที่ส่งแบบมาเป็นภาษาจีนจนต้องมีการหารือร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนอยู่หลายครั้ง

นายพีระพล กล่าวว่า ก่อนจะมีการก่อสร้างตอนที่ 1 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีการอนุมัติโครงการรวมถึงวงเงินที่ใช้ในการก่อสร้างไปแล้ว ดังนั้นในการประกวดราคาตอนที่เหลือ ซึ่งได้แบ่งออกเป็น 13 สัญญา ก็ไม่ต้องเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติก่อน เพราะสามารถดำเนินการได้เลย
“ตามแผนงานที่กระทรวงคมนาคมวางไว้ ทุกตอนที่เหลือจะต้องมีประกวดราคาเพื่อก่อสร้างให้ได้ทั้งหมดภายในปีนี้ เพื่อให้การก่อสร้างเดินหน้าไปตามแผนงานที่กำหนด”นายพีระพล กล่าว

นายพีระพล กล่าวว่า ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 นี้ จะมีการประชุมรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 23 ที่สาธารณะรัฐประชาชนจีน หลังจากครั้งที่ 22 ได้จัดขึ้นที่ประเทศไทยไปแล้ว โดยทางผู้บริหารของกระทรวงคมนาคมก็จะทยอยเดินทางไปตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ เพื่อประชุมกลุ่มย่อยก่อน จากนั้นจะมีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมร่วมประชุมด้วยในวันที่ 8 ก.พ. ซึ่งก็คาดว่าจะมีความคืบหน้าของการดำเนินงานมากขึ้นแน่นอน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะมี 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา เป็นทางยกระดับ 181.9 กม. ทางระดับพื้น 64.0 กม. เป็นอุโมงค์ 6.4 กม. ตั้งเป้าหมายก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2564 โดยใช้รถไฟรุ่น FUXINGHAO ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงรุ่นล่าสุดของจีน ความเร็วสูงสุดได้ 250 กม./ชั่วโมง(ชม.) ใช้เวลาเดินทางตลอดสาย 1.30 ชม.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน