นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 6 พันธมิตรโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า ในปีงบประมาณ 2561 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีนโยบายจัดตั้งโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ต ปาร์ก (Smart Park) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 1,500.97 ไร่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่อีอีซี ห่างจากกรุงเทพฯ 154 กิโลเมตร ห่างจากท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง 54 กิโลเมตร ห่างจากท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด 2.5 กิโลเมตร ห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิ 130 กิโลเมตร ห่างจากสนามบินอู่ตะเภา 17 กิโลเมตร

ทั้งนี้ พื้นที่นิคมฯ แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วยพื้นที่อุตสาหกรรม 723.78 ไร่ พื้นที่พาณิชยกรรม 147.18 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 393.50 ไร่ และพื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 236.51 ไร่ เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่รองรับการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมด้านดิจิตอลอย่างสมบูรณ์แบบ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีทันสมัยโดยมุ่งเน้นบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจเพื่อให้เกิดการร่วมผลิตและสร้างสรรค์นวัตกรรม ระบบฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และระบบดิจิตอลในเชิงพาณิชย์ให้กระจายไปถึงทุกภาคส่วน

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คาดจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ต ปาร์กประมาณ 12,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนของ กนอ. กว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมวิจัยและพัฒนา อุตสาหกรรมโลจิสติกส์การบินและอวกาศ อุตสาหกรรมอุปกรณ์อัจฉริยะหุ่นยนต์และจักรกล และอุตสาหกรรมดิจิตอลเทคโนโลยีอินเทตอร์เนต และเป็นแผนลงทุนของ 6 พันธมิตรประมาณ 10,000 ล้านบาท

คาดจะเริ่มเห็นการลงทุนภายในปี 2562 มีกำหนดเปิดให้ผู้ประกอบการเข้าลงทุนได้ช่วงปลายปี 2562 โดยคาดจะมีนักลงทุนสนใจลงทุนรวมประมาณ 60 ราย และมีกำหนดโครงการเสร็จสมบูรณ์ในปี 2563 คาดวงเงินลงทุนภาคอุตสาหกรรมรวมประมาณ 40,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ กนอ. ยังเตรียมเสนอนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังให้คณะกรรมการนโยบายอีอีซี ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเห็นชอบให้เป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมในการประชุมครั้งถัดไป โดยนิคมฯมาบตาพุดจะเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ส่วนนิคมฯแหลมฉบังจะเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์แห่งอนาคต

นายวีรพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้น กนอ. ประสานความร่วมมือกับบริษัท พีทีที โพลีเมอร์ โลจิสติกส์ จำกัด ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการด้านโลจิสติกส์เพื่อจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า (Rayong International Distribution Center-RIDC) รองรับการขยายธุรกิจ รวมถึงส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยไม่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ดำเนินการพัฒนาโครงการบริหารจัดการความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเทคโนโลยีพลังงานสะอาด การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

บริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ดำเนินการศึกษาสนับสนุนการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภค และร่วมกันออกแบบระบบสาธารณูปโภคให้เหมาะสมต่ออุตสาหกรรมของโครงการ บริษัท บางกอก อินดัสเทรียล แก๊ส จำกัด ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ทางด้านก๊าซอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนประสิทธิภาพการผลิตทางด้านอุตสาหกรรมในยุค 4.0 ที่ช่วยอนุรักษ์พลังงาน และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทจะร่วมพัฒนาโครงการระบบขนส่ง สถานีบริการ สถานีซ่อมบำรุง ส่วนบริการต่อเนื่องในระบบขนส่งภายใน พื้นที่พาณิชยกรรมต่อเนื่องในระบบขนส่งภายในศูนย์การประชุมที่ทันสมัย และจะใช้โครงการเป็นต้นแบบในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไปในอนาคต คาดใช้เงินลงทุนหลัก 1,000 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน