สภาพัฒน์แถลงจีดีพีไตรมาส 4 ขยายตัว 4.0% ส่งออกทะลุ 11.6% ส่วนทั้งปี 2560 เศรษฐกิจขยายตัว 3.9% คาดปีนี้ ขยับถึง 4.6%

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ พร้อมด้วย ผู้บริหารสศช. แถลงข่าวตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ทั้งปี 2560 และแนวโน้มปี 2561 ดังนี้ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2560
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 4.0 ต่อเนื่องจากการขยายตัว ร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ขยายตัวจากไตรมาสที่สามของปี 2560 ร้อยละ 0.5 (QoQ_SA) รวมทั้งปี 2560 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในปี 2559

ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน การขยายตัวในเกณฑ์สูงของการส่งออกสินค้า และการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่การลงทุนภาครัฐลดลง การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 3.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้รวมในระบบเศรษฐกิจ และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นผู้บริโภค

โดยการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้นร้อยละ 21.8 สอดคล้องกับการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งร้อยละ 33.9 ในขณะที่การใช้จ่ายด้านบริการ สินค้ากึ่งคงทน และสินค้าไม่คงทน ขยายตัวร้อยละ 2.3 ร้อยละ 0.5 และร้อยละ 1.8 ตามลำดับ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (ราคาคงที่) ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ และปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซลร้อยละ 11.5 ร้อยละ 2.5 และร้อยละ 2.5 ตามลำดับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 65.2 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 ไตรมาส การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 0.2 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับ

การขยายตัวของมูลค่าการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำรวมที่ขยายตัวร้อยละ 1.4 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 15.0 ในไตรมาสก่อนหน้า การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 2.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกและการลดลงของกำลังการผลิตส่วนเกินในหลายอุตสาหกรรม แต่การลงทุนในสิ่งก่อสร้างยังปรับตัวลดลงร้อยละ 2.3 สอดคล้องกับการลดลงของปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ ปริมาณการจำหน่ายคอนกรีต ปริมาณการจำหน่ายกระเบื้อง และพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ส่วนการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลงร้อยละ 6.0 โดยการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว แต่การลงทุนของรัฐบาลปรับตัวลดลง

โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาอุทกภัยและการปรับตัวด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สอดคล้องกับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 14.0 เทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 21.1 และอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 17.0 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ในด้านภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 61,164 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องร้อยละ 11.6 ซึ่งเป็นการขยายตัวในทุกตลาดส่งออกสำคัญ และเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับ

 

เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยรวมทั้งปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในปี 2559 โดยในด้านการใช้จ่าย การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.2 และร้อยละ 1.7 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 และร้อยละ 0.5 ในปี 2559 ตามลำดับ
ขณะที่การส่งออกสินค้าขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 9.7 เร่งขึ้นมากจากการขยายตัวร้อยละ 0.1 ในปี 2559 และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี ในขณะที่การลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลงร้อยละ 1.2 ในด้านการผลิต การผลิตภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 6.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 2.5 ในปี 2559 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในปี 2559 สาขาค้าส่งและค้าปลีก และสาขาขนส่งและการคมนาคมขยายตัวร้อยละ 6.3 และร้อยละ 7.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.3 และร้อยละ 4.1 ในปี 2559 ตามลำดับ ในขณะที่สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 8.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 9.9 ในปีก่อนหน้า

รวมทั้งปี 2560 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 15,450.1 พันล้านบาท (455.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) รายได้ต่อหัวเฉลี่ยของคนไทย
อยู่ที่ 228,371.0 บาทต่อคนต่อปี (6,729.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี) เพิ่มขึ้นจาก 215,454.6 บาทต่อคนต่อปี (6,103.9 ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี) ในปี 2559 เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ 0.7 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 10.8 ของ GDP
แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2561

เศรษฐกิจไทยปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6-4.6 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเร่งขึ้นและสนับสนุนเศรษฐกิจในภาพรวมได้มากขึ้น แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี และการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีของสาขาเศรษฐกิจสำคัญๆ ต่อเนื่องจากปี 2560 และการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานและฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 6.8 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.2 และร้อยละ 5.5 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.9-1.9 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 7.8 ของ GDP

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน