นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2561 เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) โดยกำหนดให้นายจ้าง หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำรายจ่ายค่าจ้าง ให้กับลูกจ้างที่ถือบัตรคนจน ที่มีการจ่ายผ่านบัตรคนจนเท่านั้น นำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นจำนวน 1.5 เท่าที่จ่ายให้ลูกจ้าง แต่ไม่เกิน 10% ของจำนวนลูกจ้างในบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น สำหรับรอบบัญชี 1 ม.ค. 2561-31 ธ.ค. 2562

“รายจ่ายค่าจ้างจากการจ้างผู้มีบัตรคนจน ไม่รวมถึงการจ้างผู้ถือบัตรคนจนที่เกินกว่า 15,000 บาทต่อเดือน หรือ เกินกว่า 100,000 บาทต่อปี โดยลูกจ้างที่ทำงานกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหลายแห่ง ให้เฉพาะบริษัทแรก ที่รับลูกจ้างเข้าทำงาน เป็นบริษัทที่ใช้สิทธิหักรายจ่ายได้เท่านั้น” นายณัฐพร กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการดังกล่าว จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่มาตรการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสวัสดิการสังคมและการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีรายได้น้อย และเป็นการส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.เห็นชอบขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรวงเงิน 30,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ในส่วนที่อยู่ระหว่างรอการเบิกจ่าย 4,956 ล้านบาท คิดเป็น 455 ราย ที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันแต่อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งตามเงื่อนไขโครงการ ซึ่งเดิมจะสิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค. 2560 ออกไปเป็น 30 มิ.ย. 2561

สำหรับโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ดำเนินการผ่านธนาคารออมสิน วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยกู้ต่อในอัตราดอกเบี้ย 4% ซึ่งล่าสุดสิ้นปี 2560 ธนาคารออมสินอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 29,480 ล้านบาทให้กับเอาเอ็มอี จำนวน 2,613 ราย มีการเบิกจ่ายแล้ว 24,500 ล้านบาท คิดเป็นกว่า 2,100 ราย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน