นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสถิติการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทย ช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ของปี 2567 มีมูลค่ารวม 1,851 ล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณ 65,984 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.73% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
การส่งออกขยายตัวในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในภูมิภาคอเมริกา เอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เรียงตามลำดับมูลค่าการส่งออกดังนี้ ภูมิภาคอเมริกา 632 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.90% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และแคนาดา ตลาดส่งออกหลักของไทยในภูมิภาคนี้ ได้แก่ สหรัฐ 402.39 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15.41% แคนาดา 102.43 ขยายตัว 40.57% และชิลี 47.48 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6.01%
ภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง 618 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.98% โดยเฉพาะตะวันออกกลางขยายตัว 38.97% จากความกังวลต่อสถานการณ์สงคราม จึงกักตุนสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะ อิสราเอล ขยายตัว 103.43% เลบานอน ขยายตัว 72.97% และอิรัก ขยายตัว 110.31% ส่วนเอเชีย ญี่ปุ่นยังคงนำเข้าทูน่าในปริมาณสูง แต่ด้วยปัญหาการแข็งค่าของเงินเยนทำให้มูลค่าการส่งออกลดลง
ตลาดส่งออกสำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง ได้แก่ ญี่ปุ่น 168.15 ล้านเหรียญสหรัฐ (-17.88%) ซาอุดีอาระเบีย 110.91 ล้านเหรียญสหรัฐ (+4.79%) และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 100.91 ล้านเหรียญสหรัฐ (+55.30%)
นายพูนพงษ์กล่าวว่า สำหรับภูมิภาคแอฟริกา มีมูลค่าการส่งออก 247 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น29.87% จากปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองของภูมิภาคนี้ ตลาดสำคัญได้แก่ ลิเบีย 124.62 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 12.62% อียิปต์ 75.97 ล้านเหรียญสหรัฐขยายตัว106.17% และ แอฟริกาใต้ 28.87 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขยายตัว 61.04%
ส่วนภูมิภาคยุโรป มีมูลค่าการส่งออก 170 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 42.48% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป รวมถึงการกักตุนอาหารกระป๋องจากสถานการณ์ภาวะสงครามที่ยืดเยื้อ โดยเฉพาะยูเครน ขยายตัว 72.81% ตลาดส่งออกหลักได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ 30.92 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 42.98% รัสเซีย 26.82 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 19.70% และ สหราชอาณาจักร 26.76 ขยายตัว 66.54%
“ไทยครองตำแหน่งผู้นำตลาดทูน่ากระป๋องมาอย่างยาวนาน มีปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง อาทิ ค่าแรงที่แข่งขันได้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและท่องเที่ยวของคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และกระแสความกังวลสถานการณ์สงคราม ทำให้สินค้าทูน่ากระป๋องตอบโจทย์วิถีชีวิตในปัจจุบันและสถานการณ์โลก แต่เงินบาทที่แข็งค่า และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ปริมาณปลาทูน่าลดลงผู้ประกอบการไทยต้อง ใช้นวัตกรรมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อขยายตลาดทูน่ากระป๋องของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน”