พิชัย แนะ ไทยปรับตัวกับสงครามการค้า หลังเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ว่า “ทรัมป์-แฮร์ริส” จะเป็นผู้นำ มองอัตราแลกเปลี่ยนสำคัญ เหตุรูปแบบการส่งออกเปลี่ยน
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยถึงประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 5 พ.ย.นี้ ว่าเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นนายโดนัลด์ ทรัมป์ หรือนางกมลา แฮรร์ริส เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ก็มีปัญหาทั้งนั้น เพราะนโยบายของทั้งคู่จะยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศตัวเองมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาสหรัฐมีบทบาทแบบ One Man Show แต่ปัจจุบันมีขั้วอื่น ๆ มา ดังนั้นหลังจากนี้สหรัฐจะต้องมีการปรับแนวนโยบายในการบริหารประเทศ ทำให้มองว่าไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ก็มีปัญหาทั้งหมด แต่ความหนัก และความแรงอาจจะไม่เท่ากัน
ทั้งนี้ ท่ามกลางความรุนแรงของปัญหาสงครามการค้า (เทรดวอร์) ที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น ภายหลังผลการเลือกตั้งนั้น ประเทศไทยจะต้องพิจารณาภาพรวมและปรับตัวให้ดี ซึ่งหากปรับตัวได้ดีก็อาจจะได้รับผลประโยชน์ไปด้วย ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าทำได้ค่อนข้างดี สะท้อนจากตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่มีจำนวนเพิ่มมากสูงสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งในเรื่องนี้ประเทศไทยจะต้องพิจารณาใน 2 เรื่องสำคัญ คือ
1. ต้องพัฒนาและสนับสนุนให้เป็นนการผลิตโดยคนท้องถิ่น (Local Content) ซึ่งตรงนี้เป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับปรุงตัวเอง
2. โครงสร้างความเป็นเจ้าของการผลิตจะต้องเป็นของคนไทยด้วย ไม่ใช่แค่การนำเข้ามาประกอบในประเทศไทยเท่านั้น
สำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาทจะแข็งค่าหรืออ่อนค่ามี 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ หากเงินบาทอ่อนค่า เราต้องรักษาเสถียรภาพค่าเงินไม่ให้อ่อนค่าน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรักษาความสามารถในการส่งออก
ส่วนอีกประเด็น คือ สกุลเงินของแต่ละประเทศจะผันผวนไปตามเงินดอลล่าร์ แต่ขณะนี้สถานการณ์ไม่เหมือนในอดีต ประเทศไทยมีสภาพคล่อง มีเงินสำรองเพียงพอที่จะดูแลเรื่องเหล่านี้ได้ จึงมองว่าปัญหาเหล่านี้คงไม่มากนัก สิ่งที่สำคัญที่อยากเห็นคือความสามารถในการส่งออกมากกว่า
โดยปัจจุบันยังมีช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง และบางช่วงก็อ่อนค่ากว่า แต่อยากให้มองในระยะยาว เพราะการแข่งขันเหล่านี้ต้องมองในระยะยาว เพราะฉะนั้นอัตราแลกเปลี่ยนเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น แต่แน่นอนว่าเราคงไม่ได้เข้าไปแทรกแซง โดยย้ำว่าอัตราแลกเปลี่ยนมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้รูปแบบการส่งออกเปลี่ยนไป