เอกชนครวญ ขึ้นแวต 15% โรงแรมกระทบ 2 เด้ง แบกต้นทุนถ้าไม่ปรับค่าห้อง การท่องเที่ยวชะงัก ดันสินค้าแพง ประชาชนอ่วม เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น
วันที่ 5 ธ.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกระทรวงการคลังมีแนวทางจะปรับปรุงการจัดเก็บภาษี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่กำลังศึกษาการจัดเก็บจาก 20% เป็น 15%
ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กำลังศึกษาเพื่อจูงใจการทำงานในประเทศไทย จะพิจารณาจาก 35% เหลือ 15% และภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) หรือ ภาษีบริโภค ที่ไทยเก็บภาษี 7% จากกำหนดไว้ 10% กำลังศึกษาอาจปรับเป็น 15% นั้น ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ซึ่งส่วนใหญ่วิตกในเรื่องการปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะมีผลกระทบวงกว้างต่อการใช้จ่ายของประชาชน
นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) หรือ ภาษีบริโภค เกี่ยวพันกับผู้บริโภคและประชาชนโดยรวม หากปรับขึ้นคงไปสะท้อนในราคาสินค้าหรือบริการทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินเพิ่ม เป็นการกระทบวงกว้างกว่าการทบทวนภาษีนิติบุคคลหรือภาษีบุคคลธรรมดา ซึ่งมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบที่แตกต่างกันไป ขึ้นกับฐานรายได้ และค่าใช้จ่ายที่นำมาหักลบกัน
นายเทียนประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับแวตนั้น บริษัทมีทั้งการขายและการซื้อ ซึ่งนำมาหักลบกันได้ เพราะเป็นเรื่องของต้นทุนและค่าใช้จ่าย สำหรับโรงแรมหากปรับแวตจะกระทบ 2 เด้ง ทั้งกำลังใช้จ่ายลูกค้าที่เจอราคาสูงในการซื้อสินค้าหรือบริการต้องชะลอการใช้เงินกับการท่องเที่ยวหรือเดินทาง กับผลกระทบต้นทุนและรายได้ของธุรกิจเอง
นายเทียนประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ปกติอัตราห้องพักจะคิดเป็นแบบเหมา ซึ่งรวมแวตอยู่ในนั้น หากปรับขึ้นแวต แต่เราต้องกำหนดห้องพักเท่าเดิม ก็เท่ากับต้องแบกรับต้นทุนไว้เอง ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันหากไม่ใช่วันหยุดหรือเทศกาล จำนวนจองห้องพักก็ยังอยู่ในอัตราต่ำ
“หากต้องมีการปรับขึ้นจริง ไม่ควรจะปรับในอัตราสูงพรวด จาก 7% เป็น 15% คงต้องทยอยปรับเป็นขั้นบันได หรือ ที่ไทยกำหนดเก็บแวต 10% แต่เลื่อนไว้และเก็บ 7% มาตลอด หากจะทบทวนก็ไม่น่าเกิน 10% ในระยะแรก เพราะในสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อในปัจจุบันและมุมมองต่อปี 2568 ยังไม่ได้ฟื้นตัวได้เต็มที่”
นายเทียนประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า บรรยากาศเป็นการระมัดระวังใช้จ่าย และติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกและเหตุการณ์รุนแรงในตะวันออก ยังเป็นแรงกดดันการใช้จ่ายและการฟื้นตัวของธุรกิจ ส่วนภาษีเก็บจากรายได้บุคคลหรือธุรกิจ หากจะทบทวนเหลือในอัตราเดียว รัฐต้องมีคำตอบและอธิบายให้ชัดเจนและเทียบผลการเก็บภาษีในปัจจุบัน รวมถึงผลได้ผลเสียต่างๆ
นายเทียนประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวมองว่าการทบทวนภาษีไม่ได้จะทำได้ในเร็วๆ นี้ รัฐอาจต้องการโยนหินถามทาง ดูว่ากระแสจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ธุรกิจเรามองว่า รัฐควรเร่งกระตุ้นใช้จ่ายผ่านมาตรการต่างๆ ออกมาโดยเร็วจะดีที่สุด เพราะใกล้ปีใหม่แล้ว ทั้งผู้บริโภคและคนค้าขายจะได้รู้ว่าต้องเตรียมตัวกันอย่างไร
นายเทียนประสิทธิ์ กล่าวถึงบรรยากาศการจองห้องพักก่อนเข้าเทศกาลปีใหม่ 2568 นั้น โรงแรมในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยอดจองล่วงหน้าถึงเดือน ม.ค. 2568 ยังมีต่อเนื่องและในอัตราเกิน 70-80% โรงแรมในเชียงใหม่บางส่วนอยู่ในอัตรา 90% แล้ว ถือว่าฟื้นตัวได้เร็วหลังเจอน้ำท่วมใหญ่
นายเทียนประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนภาคอื่นๆ รวมถึงจังหวัดในภาคใต้ที่ไม่เจอน้ำท่วม ยังมียอดจองต่อเนื่อง ยกเว้นหาดใหญ่ เพราะส่วนใหญ่พึ่งพานักท่องเที่ยวจากชาวมาเลเซีย ซึ่งเขาก็เจอน้ำท่วมในเวลาใกล้เคียงกับไทย หากน้ำลดเร็วภายใน 1 สัปดาห์ เชื่อว่ายอดนักท่องเที่ยวจะกลับมาก่อนปีใหม่
นายเทียนประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ภาพรวมธุรกิจโรงแรมในไทยน่าจะยังดีต่อเนื่องถึงเดือน ม.ค. 2568 และเริ่มชะลอตัวในเดือน ก.พ. – มี.ค. 2568 และเป็นช่วงที่จะรับรู้ว่าเที่ยวหน้าร้อนในไทย เข้าเดือน เม.ย. จะคึกคักแค่ไหน ซึ่งต้องไปรวมกับปัจจัยต่างๆ เช่น เศรษฐกิจโลก เหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ ภูมิรัฐศาสตร์ และมาตรการรัฐบาลที่จะออกมาด้วย
“คนไทยเที่ยวนอกปีใหม่นี้ ก็น่าจะยังมีให้เห็นกันอยู่ สำหรับต่างชาติเที่ยวไทย ปลายปีนี้เชื่อว่าดีกว่าหลายปีที่ผ่านมา เพราะไทยจัดกิจกรรมเยอะ มีหลายจุดให้เลือก อากาศดี และหลายประเทศที่เจอปัญหาภายในหรือการเมืองระหว่างประเทศ ไทยมักเป็นประเทศปลายทางที่คนนิยมเข้ามาพักและท่องเที่ยว อย่างในตะวันออกกลาง หรือ รัสเซีย ยังมาเที่ยวไทย”
“ส่วนเหตุการณ์ในเกาหลีใต้ น่าจะมีผลต่อการเข้ามาท่องเที่ยวของคนเกาหลีมากขึ้นในปลายปีนี้ ส่วนคนไทยไปเกาหลีใต้ในระยะหลังๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก ” นายเทียนประสิทธิ์ กล่าว