ก.ท่องเที่ยว ยันไม่นิ่งนอนใจ ลุยตรวจธุรกิจต่างชาติ-นอมินี แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เผยปี 67 ถอนใบอนุญาตแล้ว 40 ราย ย้ำธุรกิจนำเที่ยว-ไกด์ ต้องเป็นคนไทยเท่านั้น

วันที่ 16 มี.ค. 2568 น.ส.นัทรียา ทวีวงศ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า จากกรณีข่าว อดีต สส.ภูเก็ต จี้ตรวจสอบ “ธุรกิจต่างชาติ-นอมินี” นั้น ปัจจุบันกระทรวงฯ ได้มีการดำเนินการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง และกรณีนี้ ได้สั่งการให้กรมการท่องเที่ยว สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่มีส่วนดูแลรับผิดชอบ ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ตรวจสอบ ข้อเท็จจริงและปรากฏข้อเท็จจริงสรุปดังนี้

น.ส.นัทรียา กล่าวต่อว่า กรมการท่องเที่ยว มีหน้าที่โดยตรงในการส่งเสริมและกำกับดูแลธุรกิจนำเที่ยวมัคคุเทศก์ และผู้นำเที่ยว ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 ซึ่ง พ.ร.บ ฉบับดังกล่าว ให้ความสำคัญกับคนไทย โดยกำหนดคุณสมบัติในการประกอบอาชีพไว้ ดังนี้

– ธุรกิจนำเที่ยว ทั้งประเภทบุคคลธรรมดา ต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น ส่วนนิติบุคคล สัดส่วนกรรมการคนไทยต้องมากกว่าชาวต่างชาติเกินกึ่งหนึ่ง และจำนวนหุ้นชาวต่างชาติต้องไม่เกินร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และผู้มีอำนาจลงนามในกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนำเที่ยวต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น ต่างชาติต้องไม่มีอำนาจ
– มัคคุเทศก์ต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น

นัทรียา ทวีวงศ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

น.ส.นัทรียา กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินการกับผู้มีพฤติกรรมเข้าข่ายการประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยใช้คนไทยเป็นตัวอำพราง (Nominee) นั้น กรมการท่องเที่ยวได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (Nominee) ใช้ชื่อย่อว่า ศปต.

โดยศูนย์ปฏิบัติการดังกล่าว มีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และกรมการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ยังเก็บบันทึกข้อมูลและติดตามพฤติกรรมผู้มายื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่มีความเสี่ยง ได้แก่ นิติบุคคลที่มีชาวต่างชาติกำกับและครอบงำการประกอบธุรกิจนำเที่ยวของบริษัท รวมถึงร่วมกับตำรวจท่องเที่ยวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจเยี่ยมกลุ่มบริษัทดังกล่าว เพื่อตรวจสอบการดำเนินธุรกิจ

น.ส.นัทรียา กล่าวอีกว่า สำหรับในกรณี จ.ภูเก็ต ได้ร่วมกับตำรวจท่องเที่ยวลงพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่นิยมของนักท่องเที่ยว เช่น วัดฉลอง เมืองเก่า แหลมพรหมเทพ เป็นต้น เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมชาวต่างชาติที่นำเที่ยวเอง รวมถึงบูรณาการข้อมูลกับสมาคมที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมมัคคุเทศก์ สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว เพื่อเฝ้าสังเกตการณ์และลงพื้นที่ตรวจสอบผู้ที่มีความเสี่ยงในการกระทำความผิด

ผลการดำเนินการที่ผ่านมาภาพรวมทั่วประเทศ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริษัทนำเที่ยวที่อาจเข้าข่ายนอมินี 6 พื้นที่สำคัญ ในเชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา ชลบุรี หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพมหานคร

ตรวจพบนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวแต่แอบเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจและเปลี่ยนแปลงสัดส่วนกรรมการและสัดส่วนผู้ถือหุ้น เป็นเหตุให้ขาดคุณสมบัติการประกอบธุรกิจนำเที่ยว นายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวฯ ได้เพิกถอนใบอนุญาตจำนวน 40 ราย ในปี พ.ศ. 2567 และตรวจพบว่าแอบเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นจนขาดความเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย นำส่งข้อมูลให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าสืบสวนขยายผลดำเนินคดี จำนวน 2 ราย

ส่วนในพื้นที่ จ.ภูเก็ต นายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวฯ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวฯ จำนวน 15 ราย โดยตรวจสอบพบว่าบริษัทธุรกิจนำเที่ยวรายหนึ่ง มีกรรมการเป็นชาวต่างชาติเท่ากับกรรมการคนไทย ซึ่ง 1 ใน กรรมการคนไทย มีชื่อในบริษัทอื่นอีกหลายบริษัท และมีคนไทยอีก 5 คน มีชื่อสลับกันเป็นกรรมการที่คนต่างชาติเป็นกรรมการ จึงส่งผลให้มีการเพิกถอนดังกล่าว

น.ส.นัทรียา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันหน่วยงานภายใต้ ศปต. อยู่ระหว่างขยายผลเพื่อพิจารณาดำเนินคดีความผิดฐานนอมินี 1 ราย ซึ่งกรมการท่องเที่ยวได้ดำเนินการร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน เพื่อให้ธุรกิจนำเที่ยวในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฏหมาย และมีมาตรฐานความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน