นายฐิติ ลุจินตานนท์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด หรือ ข้าวตราฉัตร เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาข้าวถุงหอมมะลิใหม่ในประเทศ ขนาด 5 กิโลรัม (ก.ก.) มีราคาสูงถึง 250 บาท เพิ่มขึ้นประมาณ 20% จากเดิมช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวปลายปีที่ผ่านมาถุงละ 210 บาท ผลมาจากปริมาณข้าวหอมมะลิปีเพาะปลูก 2559/60 ออกสู่ตลาดน้อยโดยภาครัฐระบุปริมาณหอมมะลิหายจากตลาดประมาณ 8-9% แต่โรงสีระบุว่าปริมาณข้าวหอมมะลิลดลง 20% ขณะที่ผู้ส่งออกระบุว่าหายไปกว่า 40% จากผลผลิตปกติ 8-9 ล้านตัน เนื่องจากพายุเซินกา ทำให้น้ำท่วมภาคพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิของไทยเสียหาย

ทั้งนี้ จากผลผลิตข้าวหอมมะลิที่หายจากตลาดโลกส่งผลให้ราคาข้าวหอมมะลิสูงขึ้นเป็นตันละ 1,200 ดอลลาร์ จากต้นฤดูกาลผลิตที่ขายได้ตันละ 900 ดอลลาร์ เท่ากับปีการผลิต 2549/51 ที่เกิดวิกฤตความมั่นคงด้านอาหาร ขณะที่ราคาข้าวในประเทศปรับตัวสูงขึ้นถึง ตันละ 17,000 บาท สูงกว่าต้นฤดูการผลิตที่มีราคาตันละ 11,000 บาท และดันราคาข้าวขาว 5% เพิ่มขึ้นในขณะนี้เป็น ตันละ 8,000 บาท จากปกติ 6,500-7,000 บาทต่อตัน ยกเว้นราคาข้าวนึ่งที่ทรงๆ ตัวอยู่ที่ 400 ดอลลาร์ ลดลงจากเดิม 420-430 ดอลลาร์

“อิหร่านที่กินข้าวบาสมาติ ก็หันกลับมากินหอมมะลิของไทย เพราะบาสมาติราคาสูงมากต่างกันถึง 100 ดอลลาร์ จากเดิมช่วงห่างไม่มากนัก ทำให้ความต้องการข้าวหอมมะลิในตลาดโลกสูงขึ้นทั้งจากผลผลิตหายไปจากตลาด และบาทแข็งค่าทำให้ราคาข้าวไทยสูงขึ้น แต่ด้วยคุณภาพที่ขายตลาดบนอยู่แล้วทำให้ไม่มีปัญหาในการเสนอขาย อีกทั้งไทยไม่มีปัญหาเรื่องสต็อกข้าว และรัฐบาลยังขายข้าวจีทูจี กับ อินโดนีเซีย บังคลาเทศ ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ ได้อีก จึงดันราคาข้าวไทยให้สูงขึ้นได้ในขณะนี้ ปีนี้ราคาข้าวดีขึ้นแน่นอนเพราะมีออร์เดอร์ต่อเนื่อง ขาดอยู่อย่างเดียวคือปัจจัยเงินบาทแข็ง ส่วนคู่แข่งอย่างเวียดนามก็ไม่รุนแรง เพราะคุณภาพข้าวต่างกันมาก โดยตลาดยังเป็นกลุ่มเดิมที่ดีมานด์เพิ่ม เช่น ตะวันออกกลาง อิหร่าน แอฟริกา”

นายฐิติ กล่าวว่า ราคาข้าวหอมมะลิคาดว่าจะดีดตัวสูงขึ้นจนถึงเดือนก.ค.-ส.ค.นี้ หลังจากนั้นคาดว่าผู้ประกอบการจะชะลอการสั่งซื้อเพื่อรอข้าวในฤดูกาลใหม่ที่จะออกสู่ตลาดในเดือนช่วงพ.ย.-ธ.ค. ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์แนวโน้มราคาในปีการผลิตใหม่ได้ โดยต้องรอดูพื้นที่เพาะปลูกที่คาดว่าเกษตรกรจะเริ่มเตรียมแปลงในเดือนพ.ค.นี้ เป็นต้นไป แต่จากราคาข้าวหอมมะลิที่ปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะส่งผลให้ชาวนาขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น แทนการปลูกข้าวเหนียวที่ราคาปีนี้ไม่ดีนัก หากปลูกมากและผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นในปี 2560/61 ก็มีความเป็นไปได้ที่ราคาจะปรับลดลง ซึ่งต้องพิจารณาปัจจัยลบอื่นๆ โดยเฉพาะภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้

สำหรับข้าวตราฉัตรมีส่วนแบ่งการตลาดข้าวถุงในประเทศประมาณ 30% เป็นอันดับ 1 โดยรับซื้อข้าวจากชาวนาที่ร่วมโครงการส่งเสริมข้าวหอมมะลิคุณภาพดี 1.8 แสนตันข้าวเปลือกชื้น หรือ 8 หมื่นตันข้าวสาร ซึ่งยังไม่เพียงพอ ตลาดยังมีความต้องการ 4 แสนตัน ปัจจุบันจึงกว้านซื้อทุกช่องทางเพื่อให้ยอดขายเป็นไปตามเป้าหมาย 1 ล้านตัน มูลค่า เพิ่มขึ้นจากปี ที่ผ่านมาที่มียอดขาย 9 แสนตัน 1.4 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10% แบ่งเป็นการส่งออก 8 แสนตัน เป็นอันดับ 4 ของการส่งออกทั้งประเทศ โดยข้าวหอมมะลิส่งออกประมาณ 2.5 แสนตันต่อปี และในประเทศ 2 แสนตัน ปี 2561 ตั้งเป้ายอดขายทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น 15% แนวโน้มคาดว่าจะเป็นไปตามที่กำหนดไว้ เนื่องจากไตรมาสแรกยอดทะลุไปแล้ว 25% โดยข้าวถุงจะขายได้ 10 ล้านถุง เพิ่มขึ้นกว่า 20%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน