“กฤษดา”

มีการสำรวจกลุ่มคนดูหนังเรื่องนี้ที่อเมริกา จากการสำรวจพบว่า 80% เป็นผู้หญิง และ 88% มีอายุมากกว่า 35 ปี

ข้อมูลที่ได้อ้างถึงเป็นสิ่งยืนยันว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนังสำหรับคนดูผู้หญิง และเป็นคนดูผู้หญิงที่อยู่ในวัยกลางคนขึ้นไป

ผลที่ได้จากการสำรวจไม่ถึงขั้นทำให้แปลกใจ แต่ก็นำไปสู่การตั้งข้อสังเกตสัก 3 ข้อ

หนึ่ง ยังมีคนทำหนังที่มุ่งตอบสนองความพอใจของกลุ่มคนดู ผู้หญิง

หรือกล่าวอีกอย่างว่า คนดูผู้หญิงยังมีหนังให้ดู

สอง อย่างน้อยคนดูผู้หญิงที่อายุ 35 ขึ้นไปยังเป็น “กลุ่มคนดูหนัง” ในตลาด หรือ ยังคงเป็น “ตลาด” หนึ่ง (ในตลาดใหญ่ที่เป็นของชาย วัยรุ่นและผิวขาว)

ซึ่งสะท้อนถึงการแบ่งส่วนตลาดออกเป็นหลายส่วนที่แยกย่อยในตลาดคนดูหนังในอเมริกา

สาม ดารานักแสดงในอเมริกา มีอายุการทำงานที่ยาวนานมาก

อย่าง เจน ฟอนดา ซึ่งอายุมากที่สุดในกลุ่ม อายุย่าง 81 และเล่นหนังมานานกว่า 50 ปี

งานที่ทำให้ฟอนดา มีชื่อเสียงคือ Barefoot in the Park และ Barbarella ออกฉายปี 1967 และ 1968 ตามลำดับ (ซึ่งตอนนั้น ฟอนดา อายุ 30 แล้ว)

ส่วนคนอื่นๆ ก็อายุมากระดับ 60-70 ขึ้นไป เช่น ไดแอน คีตัน 72 แคนดิซ เบอร์เจ็น 72 คนที่อ่อนที่สุดในกลุ่มเป็น แอนดี้ การ์เซีย ก็ 62 ปีแล้ว

การที่มีกลุ่มนักแสดงอายุ 70-80 ปี ยังมีผลงานการแสดงออกมาย่อมแสดงว่ามีคนจ้าง และการที่มีคนจ้างก็แสดงว่าคนจ้างเชื่อว่ายังมีคนดู

ซึ่งลักษณะทั้ง 3 ข้อ ไม่น่าจะพบในตลาดหนังของไทย

คำถามสำคัญก็คือ ใครเป็นกลุ่มคนดูของ Book Club เมื่อหนังมาฉายในไทย

เป็นไปได้ว่า น่าจะเป็นผู้หญิง แต่ไม่น่าจะเป็นกลุ่มผู้มีอายุ 30-40 (ผมพบคนดูอายุประมาณนี้แทบนับจำนวนได้ในโรงหนัง ในรอบหลายปีที่ผ่านมา) และอาจรวมถึง ผู้ที่ชอบหนังตลกและตลกโรแมนติก (ซึ่งก็เป็นผู้หญิงอีกเช่นกัน)

เมื่อมองในแง่ความเป็นหนังตลก หนังมีเหตุการณ์ และบางคำพูดที่ทำให้ยิ้มได้หรือหัวเราะเบาๆ แต่ไม่ถึงกับฮามาก

มีบทพูดในบางฉากที่ได้ยินแล้วจดจำได้ เช่น เมื่อตัวละครกล่าวถึงอาการเสื่อม เขาบอกว่า “ความทรงจำเป็นสิ่งที่จะเสื่อมอันดับที่สอง” อีกคนเลยถามว่า “แล้วอย่างแรกล่ะ” คำตอบก็คือ “จำไม่ได้แล้ว”

ผมไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลัก แต่การที่มีดารานักแสดง อายุ 70-80 ออกมาแสดงหนังให้ดู ถือว่าเป็นการได้ของขวัญที่พิเศษ

“กฤษดา” ให้สามดาว BOOK CLUB แก๊งสาวใหญ่หัวใจฟรุ้งฟริ้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน