“กฤษดา”

Only the Brave เปรียบเหมือนหนังสงคราม

ตัวละครชายในเรื่องเปรียบเหมือนทหาร หัวหน้าหน่วยเปรียบเหมือนผู้บังคับหมวด ส่วนคนอื่นๆ เปรียบเหมือนทหารที่อยู่ใต้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่และความชำนาญแตกต่างกัน

หรือกล่าวอย่างเจาะจง สามารถเรียกทหารกลุ่มนี้ว่าเป็นหน่วยจู่โจม หรือหน่วยรบพิเศษ

ภาพตัวละครบางคนกำลังพักผ่อน และเล่นเกมโดยไม่สวมเสื้อทำให้นึกถึงภาพหน่วยซีลขณะกำลังรอคำสั่งปฏิบัติการ

นอกจากนั้น การแต่งกาย การฝึก การใช้อุปกรณ์ การวางยุทธวิธี และการออกคำสั่ง ก็เป็นไปแบบที่เคยเห็นในหนังสงคราม

รวมถึงบรรยากาศการพักผ่อนในบาร์ และการสังสรรค์ในกลุ่มเพื่อนก็เช่นกัน

ตัวละครที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม หรือตัวละครขัดแย้งก็คือไฟ เป็น กองกำลังที่มีจำนวนมหาศาล รุกรวดเร็ว และแข็งแกร่งจนยากที่จะต้านทาน

ส่วนสมรภูมิก็คือป่าและภูเขา โดยฝ่ายแรกต้องพยายามหยุดยั้งไม่ให้ศัตรูรุกเข้ามาจนถึงตัวเมือง

และเมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้ สามารถเปรียบไปไกลถึงขั้นที่ว่า ไฟเป็นเหมือนสงครามการก่อการร้ายที่อเมริกากำลังเผชิญ

กลับมาที่การเปรียบเหมือนหนังสงคราม หนังยังคงได้บรรยายตัวละครชายให้เป็นเหมือนทหารที่อยู่ในสมรภูมิ โดยให้เห็นว่า พวกเขามีครอบครัว มีภรรยา มีลูก และหรือมีคนรัก การสูญเสีย ที่เกิดขึ้นย่อมหมายถึงการสูญเสียหัวหน้าครอบครัว สามี พ่อ หรือคนรัก

เมื่อเปรียบเหมือนหนังสงคราม สิ่งสำคัญก็คือจะเลือกเน้นเล่าเรื่องตรงไหน ระหว่างการสู้รบกับมุมที่เกี่ยวกับคนที่รออยู่ที่บ้าน หรือเลือกทั้ง 2 ด้าน

ถ้าเลือกทั้ง 2 แบบผสมกัน จะจัดการอย่างไร เพื่อให้ออกมาลงตัว คือมีทั้งความตื่นเต้นและอารมณ์สะเทือนใจ

เมื่อพิจารณาที่เรื่องราวในหนัง พบว่ามีให้ดูทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านรบ กับด้านของทางครอบครัว และการจัดวางน้ำหนักของแต่ละส่วนก็ทำได้พอดี

เพียงแต่ปัญหาของหนังอยู่ที่การนำเสนอบรรยากาศความตื่นเต้นจากการสู้รบนั้นยังไม่ถึงขีดสุด โดยเฉพาะฉากไคลแมกซ์

ถ้าหากว่าจะเป็นการสู้รบครั้งใหญ่ที่สุด และสำคัญที่สุด ผมคาดหวังว่าจะได้เห็นความตื่นเต้นระทึกใจมากกว่านี้

ในขณะที่การสร้างอารมณ์ร่วมในส่วนของฝ่ายครอบครัว หนังนำเสนอได้ดี โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวละครที่เคยเป็นคนติดยา

และที่ต้องยอมรับว่าทำได้ดีจริงๆ ก็คือการสร้างไฟให้ดูเป็นตัวละคร รวมถึงงานฝีมือด้านการสร้างภาพพิเศษ ซึ่งน่าจะเป็นจุดเด่นที่สุดของหนังเรื่องนี้ (หน้า 16)

หมายเหตุ : แก้ไขข้อมูลในบทวิจารณ์ของขวัญ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จาก (เฉือน, 2550) แก้ไขเป็น (เฉือน, 2552) ขออภัยมา ณ ที่นี้

“กฤษดา” ให้ สามดาวครึ่ง สำหรับ ONLY THE BRAVE คนกล้าไฟนรก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน