พบโครงกระดูกวาฬพันปี – การค้นพบโครงกระดูกขนาดใหญ่ในพื้นที่บ่อดินของบริษัทไบรท์ บลู เวอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตั้งอยู่ที่ ม.5 ต.อำแพง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2563 กลายเป็นเรื่องน่าฮือฮาขึ้นมาทันที เมื่อเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 ศูนย์วิจัย ทช. อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก กลุ่มวาฬไทย สำรวจเบื้องต้นแล้วได้ข้อสรุป ว่าน่าจะเป็นกระดูก “วาฬโบราณ” แต่ยังไม่ทราบสายพันธุ์

ต่อมาวันที่ 9 พ.ย. 2563 สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 3 กรมทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกรมศิลปากรและหน่วยงานอื่นๆ ลงพื้นที่อีกครั้ง เพื่อเตรียมกู้ซากขึ้นมา และจะสำรวจหาสายพันธุ์ ขนาด อายุ ที่แท้จริง

นายทินกร ทาทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 3 กล่าวว่า ตอนนี้เท่าที่สันนิษฐานจากชิ้นส่วนที่พบก็คาดว่าน่าจะเป็นวาฬที่มีขนาดใหญ่ เพราะส่วนที่เห็นนั้นเป็นกระดูกที่ค่อนมาทางหาง ส่วนตัวน่าจะอยู่ใต้ดินที่เป็นถนน

หลังจากนี้ต้องรีบขุดกู้ซากให้เร็วที่สุด เพราะถ้าปล่อยไว้จะเสียหายมากกว่านี้ เนื่องจากกระดูกหากอยู่ในดินจะถูกรักษาตามธรรมชาติ แต่ถ้าเมื่อใดถูกขุดขึ้นมา สภาพอากาศและปัจจัยต่างๆ จะทำให้ชำรุด ซึ่งเวลาที่จะใช้กู้ซากนั้นก็ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง อีกทั้งหากสังเกตคร่าวๆ วาฬตัวนี้น่าจะยาวประมาณ 15 เมตรขึ้นไป และเมื่อขุดแล้วก็ต้องเข้าเฝือกกระดูกเป็นส่วนๆ วันหนึ่งจึงน่าจะขุดและเข้าเฝือกโครงกระดูกได้วันละประมาณ 1 เมตรเท่านั้น ต้องค่อยๆ ทำ ป้องกันการเสียหาย และเมื่อ ขุดแล้ว ก็จะต้องนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ ในห้องที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่อย่างนั้นจะเสียหาย

สำหรับการวิเคราะห์คร่าวๆ นั้น วาฬตัวนี้น่าจะมีอายุมากกว่า 1,000 ปีแน่นอน เพราะดูจากหลักฐานทางธรณีวิทยาควบคู่แล้ว พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นทะเลเมื่อหลายพันปีที่ผ่านมา จุดนี้อยู่ห่างจากทะเลเข้ามาประมาณ 15.3 กิโลเมตร และอยู่ลึกจาก ผิวดินลงไป 6 เมตร

การพบกระดูกวาฬในพื้นที่ตรงนี้และขนาดลำตัวใหญ่เท่านี้ เพิ่งจะพบเป็นครั้งแรกของไทย ที่ผ่านมาที่เคยพบก็เป็นวาฬในยุคปัจจุบันที่พบในพื้นที่ที่ไม่ห่างจากทะเลมากนัก ซึ่งการพบซากกระดูกในพื้นที่ต่างกัน ก็บ่งบอกถึงสภาพทางธรณีวิทยา ได้ต่างกันด้วยและตอนนี้สิ่งที่นักสำรวจต้องการพบมากที่สุดก็คือส่วนหัว เพราะจะบอกได้ว่า เป็นวาฬสายพันธุ์ไหน และอายุเก่าแก่มากเท่าใด

เพจเฟซบุ๊ก ThaiWhales วาฬไทย ให้รายละเอียดว่า การค้นพบโครงกระดูกวาฬก่อนหน้านี้ในประเทศไทย ชิ้นส่วนที่เก่าแก่ที่สุดในไทยที่เคยพบคือโครงกระดูกวาฬฟิน (Fin whale) ที่หมู่บ้านวิจิตราธานี ถนนบางนา-ตราด ค้นพบขณะมีการก่อสร้างหมู่บ้าน อยู่ห่างจากปากแม่น้ำไม่ต่ำกว่า 3 กิโลเมตร และบางชิ้นกลายเป็นฟอสซิลแล้ว ส่วนกระดูกที่พบล่าสุดนี้ดูจะใหญ่กว่ามาก

โครงกระดูกวาฬที่พบมีส่วนกระดูก สันหลัง (Vertebrate) 5 ชิ้นที่มีขนาดใหญ่ ดูจะใหญ่กว่าซากวาฬบรูด้าที่เคยพบมา ที่ตั้งของกระดูกอยู่บริเวณหมู่ 8 ตำบลโคกขาม จ.สมุทรสาคร ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ 2 กิโลเมตร

จากการสังเกตพื้นที่ใกล้กับแม่น้ำท่าจีน มีซากเปลือกหอยเล็กๆ ทับถม อันเป็นหลักฐานทางธรณีวิทยาว่า พื้นที่แถบนี้เคยเป็นท้องทะเลลึกมาก่อน ไม่ว่า กรุงเทพฯ อยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม

ในอดีตโลกอยู่ในช่วงอบอุ่นมากช่วงหนึ่ง เรียกว่าช่วง Medieval Warm Period ตรงกับสมัยทวารวดี หรือก่อนการก่อตั้งกรุงสุโขทัย น้ำแข็งจำนวนมากละลายออกจากขั้วโลกทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูง ทะเลอ่าวไทยในยุคนั้น มีขอบเขตกว้างขวางกว่าปัจจุบันมาก ส่วนพื้นที่หลายจังหวัดในภาคกลางตอนล่างของไทยจึงจมอยู่ใต้ระดับน้ำทะเล

ต่อมาโลกเริ่มเย็นลงจนเข้าสู่ยุคน้ำแข็งย่อย น้ำทะเลเริ่มจับตัวเป็นน้ำแข็งตามขั้วโลก ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเริ่มลดลง ประกอบกับการทับถมของตะกอนแม่น้ำหลายร้อยปี ทำให้จังหวัดต่างๆ ในภาคกลางตอนล่างปัจจุบัน เริ่มโผล่ขึ้นเหนือระดับน้ำทะเล ตรงกับยุคกรุงสุโขทัย

การค้นพบกระดูกวาฬครั้งนี้จึงมีคุณค่ามากสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์และธรรมชาติวิทยา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน