ปฏิกิริยาของทางการไทยต่อรายงานสิทธิมนุษยชนของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ประจำปี 2560 แสดงออกใน 2 ประเด็นหลัก

หนึ่ง ยืนกรานว่าต้องแยกแยะออกจากกันระหว่างสิทธิเสรีภาพกับการทำผิดกฎหมาย และสอง มองว่ากลุ่มเคลื่อนไหวที่ถูกละเมิดสิทธิ เป็นคนหน้าเดิมและมีนัยยะ

ส่วนประเด็นย่อยลงไปอาจเป็นการย้อนถามถึงสถานการณ์ของสหรัฐที่มีปัญหานี้เช่นกัน

ลักษณะการโต้แย้งดังกล่าวจะไม่ช่วยทำให้เกิดความเข้าใจต่อกันได้มากนัก เนื่องจากสิทธิมนุษยชนเป็นหลักการสากลที่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและหลักนิติธรรมภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง

แต่หลังเหตุการณ์ปี 2557 เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าประเทศไทยมีการใช้กฎหมายพิเศษเกินกว่าภาวะปกติ

นอกจากนี้ในกรณีตัวอย่างที่ปรากฏในรายงานของสหรัฐ ได้แก่ เหตุการณ์ที่นายชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักกิจกรรมชาวลาหู่ ถูกวิสามัญฆาตกรรมบริเวณจุดตรวจยาเสพติดที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เดือนมี.ค.2560 ยังคงเป็นกรณีที่การสอบสวนยังไม่อาจแสดงถึงความโปร่งใส

เช่นเดียวกับกรณีนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง หายตัวไปตั้งแต่เดือนเม.ย.2557 ยังรอการสอบสวนอย่างชัดเจนและมีคำตอบ

เฉพาะสองตัวอย่างนี้ แม้เป็นเพียงสองชีวิตแต่แสดงให้เห็นว่า การสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐมีความละเอียดและใส่ใจในความวิตกของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีสิทธิมีเสียงมากนักในสังคมไทย

เป็นกรณีที่เกิดขึ้นจริงและทางการไทยควรใส่ใจให้มากเช่นกัน

แม้ว่าสหรัฐเองมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับอีกหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ปฏิกิริยาตอบกลับการถูกวิจารณ์นั้นแตกต่างออกไป

ลักษณะโดยทั่วไปตรวจสอบข้อมูลก่อน จากนั้นจึงสอบสวนหรือโต้แย้งด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อให้ประชาชนตัดสินเอง

การตอบโต้เพื่อดิสเครดิตกลุ่มแสดงออกทางการเมืองว่ามีนัยยะ ทั้งที่ชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้ต้องการให้มีการเลือกตั้ง จึงเป็นเรื่องที่ไม่เกิดสาระประโยชน์อะไร

อีกทั้งจะไม่ช่วยพัฒนาการเคารพสิทธิมนุษยชนด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน