บทบรรณาธิการ

 

การทำงานของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือกรธ. กลับมาเข้มข้นอีกครั้ง โดยเฉพาะการพิจารณาคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่ง ให้ยึดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฉบับใหม่

จึงเป็นที่เข้าใจว่า ผู้ที่คุณสมบัติไม่ครบตามพ.ร.บ.จะอยู่ต่อไปไม่ได้ แม้เคยมีคุณสมบัติถูกต้องตามรัฐธรรมนูญปี 2550

ในส่วนของกฎหมายลูก รองนายกรัฐมนตรีวิษณุ เครืองาม ระบุว่ามี 2 ส่วน ส่วนแรกยึดรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัด หากคุณสมบัติไม่ครบจะต้องพ้นจากตำแหน่ง ส่วนสองหากมีข้อยกเว้นมาด้วย อาจอยู่ได้จนครบเทอม ส่วนคนจะมาเพิ่มเติมต้องยึดตามรัฐธรรมนูญใหม่

เป็นการสรุปว่า ไม่ได้ถึงกับ “รีเซ็ต”

 

ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. กำหนดให้คุณสมบัติ กกต. เข้มข้นขึ้น เช่น ต้องดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ เทียบเท่าระดับอธิการบดี อัยการ ผู้พิพากษา ติดต่อกัน 10 ปี

ในทางวิชาการต้องอยู่ในระดับศาสตราจารย์มาไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับบริหารงานการเลือกตั้งมาไม่น้อยกว่า 20 ปี ประสบการณ์แต่ละด้านนั้นนับรวมเวลากันได้

ส่วนอำนาจหน้าที่ที่ปรับใหม่ เช่น ให้กกต.เพียง 1 คนสามารถสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ หรือสั่งระงับการเลือกตั้งได้ทันที หากพบว่า ไม่สุจริตยุติธรรม

กรธ.ยืนยันว่า ไม่มีแนวคิดการรีเซ็ตทั้งในส่วนของกกต.และคณะกรรมการองค์กรอิสระอื่นๆ

 

การพิจารณาคุณสมบัติของกกต.ดังกล่าว แม้ยืนยันว่าไม่มีการรีเซ็ต แต่ขณะเดียวกันก็ต้องอิงเนื้อหาตามรัฐธรรมนูญใหม่และกฎหมายลูก จึงน่าจะมีผลต่อสมาชิกบางคนที่มีคุณสมบัติไม่ตรง

เรื่องสำคัญก็คือ เมื่อใช้หลักเกณฑ์กับกกต.แล้ว ก็ควรต้องใช้กับกรรมการองค์กรอิสระอื่นๆ เหมือนกันหมด

เนื่องจากคุณสมบัติของกรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญใหม่นั้นแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2550 มากเช่นกัน

หากผ่อนปรนเรื่องคุณสมบัติให้กับคณะองค์กรอิสระอื่นๆ ก็อาจเกิดคำถามลักษณะในการเลือกปฏิบัติตามมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน