การใช้มาตรา 44 ของรัฐบาลและคสช. เกี่ยว ข้องกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อย่างน้อยสองเรื่อง

เรื่องแรกเพื่อยกเลิกและระงับกระบวนการสรรหา กสทช. เนื่องจากจำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. (ฉบับที่ 2) แต่แก้ไขไม่ทัน เนื่องจากมีหลายขั้นตอนและต้องใช้เวลา

ตามกระบวนการต้องให้ กสทช.ปรับแก้ ก่อนส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา แล้วจึงส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา

เรื่องที่สอง เป็นมาตรการช่วยผู้ประกอบการ ทีวีดิจิตอลพักหนี้ ลดค่าโครงข่ายลงร้อยละ 50 และขายใบอนุญาตได้ เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจ

ทั้งสองเรื่องสะท้อนถึงปัญหาจากการประเมินสถานการณ์ที่ไม่ตรงไปตามเป้าหมายของผู้ที่เกี่ยวข้อง

กรณีสรรหา กสทช. ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คล้ายกับการสรรหาคณะทำงานขององค์กรอิสระอื่น จนสังคมเริ่มเกิดความกังวลสงสัย

หลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงมติไม่เห็นชอบกับรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอไป แต่ไม่มีรายละเอียดเปิดเผยเหตุผลประกอบ

ส่วนกรณีแก้ปัญหาทีวีดิจิตอล มาจากการประเมินทางธุรกิจผิดพลาด รายได้ของผู้ประกอบการไม่เป็นไปตามคาดหวัง จากสถานการณ์พลิกผันทางการเมือง และเศรษฐกิจ ทั้งในประเทศ และทั่วโลก โดยเฉพาะพฤติกรรมการรับสารจากสื่อ เปลี่ยนจากทีวีเข้าสู่โลกออนไลน์

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ รัฐบาลจึงระบุว่าจำเป็นต้องช่วยเหลือ โดยรัฐต้องไม่เสียประโยชน์จนเกินไป

ปัญหา กสทช. ทั้งสองเรื่อง เป็นเรื่องผลประโยชน์ที่ประชาชนพึงได้รับ แต่กลับติดขัดในด้านการจัดการที่ประชาชนยากจะเข้าใจและเข้าถึงเพื่อมีส่วนร่วม

เนื่องจากการเชื่อมต่อขององค์กรอิสระ ตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติ ตัวแทนฝ่ายบริหารถูกตัดขาดจากประชาชนด้วยกลไกทางประชาธิปไตยที่หยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2557

อาการหยุดชะงักดังกล่าวมีผลทางธุรกิจและการดำเนินงานด้านเนื้อหาของผู้ประกอบการอย่างมาก และทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ ไปด้วย

แต่ยังไม่มีมาตรการใดที่จะเยียวยาประชาชนในเรื่องนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน