การเมืองเข้าสู่สถานการณ์ศึก 3 เส้า ถึงโรดแม็ปเลือกตั้งจะยังไม่ชัดเจน แต่รัฐบาล คสช. พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ก็เปิดหน้าตะลุมบอนกันดุเดือด

รัฐบาล คสช.ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงจะพูดจาลดเลี้ยวไปมาแต่การกระทำก็แสดงเจตนาชัดเจน ถึงเป้าหมายการสืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้ง

โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ทำหน้าที่เป็นดีลเมกเกอร์ เปิดทำเนียบรัฐบาล “ดูด” อดีตส.ส. แกนนำพรรคและกลุ่มการเมืองต่างๆ มาเป็นฐานนั่งร้านให้กับพล.อ.ประยุทธ์ ได้ไปสู่ความฝันที่เป็นจริง

เริ่มจากกลุ่มชลบุรีของ นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชลที่ได้รับเทียบเชิญเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กับ นายอิทธิพล คุณปลื้ม ที่มาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬา ต่อจาก นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่ถูกดึงมาเป็นรองผู้ว่าฯกทม.ก่อนหน้าไม่กี่วัน

การดึงนายสนธยา และนายอิทธิพล เข้ามาร่วมงานกับรัฐบาล จะด้วยเหตุผลเข้ามาช่วยขับเคลื่อนโครงการอีอีซี หรือเหตุผลแอบแฝงอื่นใดก็ตาม ได้ทำให้นายสนธยาและนายอิทธิพล ได้รับการ “ปลดล็อก” ไปโดยปริยาย ก่อนหน้านักการเมืองและพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ยังขยับอะไรไม่ได้ เนื่องจากถูกมัดตราสังด้วยประกาศคำสั่งคสช. 3-4 ฉบับ

กรณี “พลังชลโมเดล” ทำให้สังคมจับตาไปยังกลุ่มการเมืองอื่นๆ ว่าจะเรียบร้อย โรงเรียนคสช.ด้วยหรือไม่ ไม่ว่ากลุ่มสะสมทรัพย์ กลุ่มวังน้ำยม กลุ่มบ้านริมน้ำ กลุ่มราชบุรี กลุ่มกปปส.

รวมถึงกลุ่มปราสาทสายฟ้าบุรีรัมย์ ที่พล.อ. ประยุทธ์ เตรียมนำทีมครม.สัญจร บุกไปเยือนถึงถิ่นอีกไม่กี่วันข้างหน้า

เจ้าของทีมเยือนยืนยันลงพื้นที่ตรวจงานตามปกติ ฝ่ายทีมเหย้าก็พร้อมต้อนรับในฐานะเจ้าบ้านที่ดี ต่างฝ่ายต่างปฏิเสธไม่มี “ดีลการเมือง” ใดๆ ทั้งสิ้น ก็ต้องจับตาดูว่าจะมีอะไรมากกว่านั้นหรือไม่ เพราะการเมืองปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องที่จะพูดกันอย่างตรงไปตรงมาอีกต่อไป

สิ่งที่ดูเหมือนจะทำให้เครื่องดูดฝุ่นทำงานสะดุดไปบ้างคือ

การที่พรรคประชาธิปัตย์หัวแถวยันปลายแถว ออกมาดับเครื่องชนรัฐบาล คสช. ชนิดไม่เหลือร่องรอย “คนกันเอง” เมื่อครั้งอดีต

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แฉเกมปูทางสร้างพรรคการเมือง เพื่อเป็นฐานรีเทิร์นกลับสู่อำนาจ โดยใช้อำนาจรัฐและอำนาจเงินเป็นตัวล่อ

นอกจากการส่งคนในรัฐบาลลงมาเล่นการเมือง ยังส่งสัญญาณไปยังภาคธุรกิจว่าควรสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใด

รวมถึงการเสนอตำแหน่ง “ผู้ช่วยรัฐมนตรี” ให้กับอีกหลายคนในหลายพรรค ไม่ใช่กับเพียงตระกูลสะสมทรัพย์ แต่กับคนในพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้รับข้อเสนอเช่นกัน และคิดว่าต้องมีกลุ่มอื่นอีก

“ไปอยู่กับเขาเถอะ ถ้าอยู่ที่นี่ไม่มีใครจะสนับสนุนด้านทุนนะ เพราะเขาดูแลได้หมด” นายอภิสิทธิ์อ้างประโยคคำพูดของเครือข่ายเครื่องดูดฝุ่น ที่ใช้ดึงดูดอดีตส.ส.เข้าร่วมสังกัด

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเลือกตั้งว่าจะต้องได้ส.ส.อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 25 เสียง เพื่อจะได้เป็นพรรคที่มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกฯ ในบัญชีพรรค ส่วนจะเป็นพรรคพลังประชารัฐหรือพรรคในชื่ออื่น ต้องติดตามกันต่อไป

จากหัวแถวต่อด้วยลูกหาบปลายแถว นายวัชระ เพชรทอง ออกมากล่าวถึงความพยายามระดมเงินทุนจำนวน 4 หมื่นล้านบาท

ประเด็นนี้ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกับปรี๊ดแตก ท้าให้นายวัชระหาข้อมูลมายืนยันว่าเงิน 4 หมื่นล้านมาจากไหน พร้อมทั้งสั่งให้ฝ่ายกฎหมายไปดูว่าจะฟ้องร้องคนที่ออกมาปล่อยข่าวข้อมูลโคมลอย สร้างความเสียหายให้รัฐบาลคสช.ได้หรือไม่ รวมถึงสื่อมวลชนที่นำข้อมูลมาเผยแพร่ต่อ

แล้วก็น่าจะเป็นข้อมูลชุดเดียวกัน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับไม้ต่อจากนายอภิสิทธิ์ ออกมากล่าวหาพล.อ.ประยุทธ์ รู้เห็นเป็นใจให้นายสมคิด ใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นที่ทำการพรรคการเมือง เรียกนักการเมืองหลายคนทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นเข้าไปเปิดดีล

แถมท้ายด้วยข้อวิเคราะห์ กรณีพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทยและผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ

หลังจากมีการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 สั่งให้ดำเนินการในสิ่งที่นอกเหนือจากพ.ร.ป.กำหนด อันเป็นการเพิ่มภาระให้สมาชิกพรรคการเมืองเดิม ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน ทั้งยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ

และหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ขัดต่อรัฐธรรมนูญจริง อาจเป็นช่องทางให้คสช.ใช้เป็นข้ออ้างส่งพ.ร.ป.กลับไปให้สนช.ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม กระบวนการนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี

หรือหากคสช.จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.ป. ซึ่งใช้เวลาไม่นาน แต่ก็เชื่อว่ายังจะกระทบต่อโรดแม็ปเลือกตั้งเดือนก.พ.2562 อยู่ดี

อย่างไรก็ตาม การที่พรรคประชาธิปัตย์ดาหน้าออกมาถล่มแหลกเครื่องดูดฝุ่นยี่ห้อคสช. ทั้งประกาศตัวพร้อมเป็นพรรคฝ่ายค้านหลังเลือกตั้ง

ก็ยังไม่วายที่ใครหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า พรรคประชาธิปัตย์ทำไปเพราะยึดถืออุดมการณ์เช่นนั้นจริงๆ หรือแค่เล่นไปตามบทบาทช่วงใกล้เลือกตั้ง ที่พรรคการเมืองต้องอิงกับกระแสประชาธิปไตยไว้ก่อนแบบเนียนๆ

เพราะหากใครติดตามประวัติศาสตร์กว่า 70 ปีของพรรคประชาธิปัตย์อย่างครบถ้วน ก็คงอดคลางแคลงใจไม่ได้ โดยเฉพาะเหตุการณ์การชุมนุมก่อนเดือนพ.ค.2557

ที่พูดได้เต็มปากว่าหากไม่มีกลุ่มกปปส.และพรรคประชาธิปัตย์ในวันนั้น ก็คงไม่มีพล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลคสช.ในวันนี้

หรือก่อนหน้าไม่นาน ตอนที่นายอภิสิทธิ์ประกาศผ่านไปถึงสมาชิกพรรค หากใครคิดสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ก็ไม่ต้องมาอยู่ประชาธิปัตย์

ก่อนโดนพล.อ.ประยุทธ์สวนกลับแบบไก่เห็นตีนงู

“ประชาชนไปใคร่ครวญเอาเอง ดูด้วยว่าวันหน้าเขาจะทำตัวอย่างไร ที่ออกมาพูดวันนี้ คอยดูวันหน้าก็แล้วกัน เลือกตั้งแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เขาจะเปลี่ยนท่าทีอะไรกันอย่างไร ก็ไปคอยดูตรงโน้นแล้วกัน แล้วค่อยไปถามเขาอีกที”

ล่าสุดเป็น นายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ โหรคมช.ที่ออกมาเปิดประเด็นโยนหินถามทาง “รัฐบาลแห่งชาติ” รูปแบบใหม่ ภายใต้เงื่อนไขพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง

ซึ่งหลายฝ่ายมีความเห็นเป็น 2 ทาง ทางหนึ่งเชื่อว่า ถึงอย่างไรรัฐบาลแห่งชาติก็ไม่มีทางแจ้งเกิด เพราะไม่มีใครเอาด้วย ขณะที่อีกทางหนึ่งมองว่า

เท่ากับเป็นการยอมรับกลายๆ ว่าถึงพล.อ.ประยุทธ์จะกลับมาได้หลังเลือกตั้ง แต่อาจอยู่เป็นรัฐบาลได้ไม่ยืด เพราะขาดเสียงส.ส.สนับสนุนเพียงพอ

จึงต้องการส่งสัญญาณ “เปิดดีลล่วงหน้า” กับ 2 พรรคใหญ่ โดยเป้าหมายที่วางน้ำหนักน่าจะอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ มากกว่าจะอยู่ที่พรรคเพื่อไทย

เหมือนอย่างที่พรรคเพื่อไทยประเมินว่า ถ้าหากพล.อ.ประยุทธ์อยากกลับมาเป็นนายกฯ ต่อ ก็ต้องอาศัยเสียงจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นหลัก ไม่ใช่เสียงที่ดูดมา

ท่ามกลางศึกการเมือง 3 เส้า ที่อุดมการณ์แบ่งเป็น 2 ค่าย คือ ค่ายยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย กับค่ายยึดมั่นในระบอบคสช. พรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นตัวแปรสำคัญ

การเป็นตัวแปรดังกล่าว ยังจะเป็นบทพิสูจน์ได้อย่างดีถึงสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังแสดงออกอยู่ตอนนี้ เป็นแค่การเล่นละคร หรือเป็นเพราะหูตาสว่าง จึงสำนึกผิด

พยายามแสวงหาหนทางไถ่บาปกับประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน