บทบรรณาธิการ

จำนวนคนที่อยู่ในข่ายจะต้องถูกตรวจสอบว่ามีความเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาว่าทุจริตโครงการรับจำนำข้าวตามคำแถลงของพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม นั้นมีอยู่ด้วยกันถึงประมาณ 6,000 คน

โดยแยกเป็นนักการเมืองทั้งในส่วนผู้กำหนดนโยบายและนักการเมืองท้องถิ่นประมาณ 2,000 คน และข้าราชการในสังกัด 5 กระทรวงอีกประมาณ 4,000 คน

โดยกระทรวงทั้ง 5 นั้นประกอบด้วยสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง

ในจำนวนนี้จะมีผู้กระทำผิดและจะต้องถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่งอยู่กี่รายยังไม่ชัดเจน

ขึ้นอยู่กับหลักฐานว่ามีความเกี่ยวข้องและมีพฤติกรรมว่าลงมือกระทำการทุจริตหรือไม่

จึงหวังว่ากระบวนการในการตรวจสอบหลักฐานเพื่อเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมานั้น จะดำเนินการไปโดยยึดหลักความยุติธรรมและความโปร่งใส

จะต้องไม่มีการ “ตั้งธง” เอาไว้ล่วงหน้า จนกระทั่งกระบวนการสอบสวนเดินไปตามธงที่ตั้งเอาไว้แต่ต้น

หลักฐานและกระบวนการในการดำเนินคดีจะต้องชัดเจนและโปร่งใส เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือสังคมภายนอกสามารถตรวจอสบได้ ไม่รวบรัดจนกระทั่งทำให้ความน่าเชื่อถือของการดำเนินคดีลดหดหายไป

ดังเช่นในกรณีที่รวบรัดดำเนินการกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ที่เป็นปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่ในปัจจุบัน

หากมั่นใจหรือมีหลักฐานในเบื้องต้นว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมา มีการทุจริตเกิดขึ้นจริง

รัฐบาลปัจจุบันก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องวิตกหรือหวั่นกลัวว่าผู้ลงมือกระทำผิดจะหลุดรอดไปได้

เพราะในโครงการขนาดใหญ่ระดับชาตินั้น หากเกิดการทุจริตขนาดใหญ่ย่อมมิใช่ฝีมือของใครหรือบางคนจะกระทำได้ หากแต่จะต้องทำกันเป็นกลุ่มก้อนหรือกระบวนการ ซึ่งสามารถตรวจจับได้ในที่สุด

ฉะนั้น กระบวนการตรวจสอบหรือเอาผิดกับการทุจริต จึงยิ่งต้องเปิดเผยโปร่งใส ไม่มีข้อครหาว่าเป็นกระบวนการที่ฉ้อฉลเสียเอง

ไม่ “เหวี่ยงแห” จนเกิดผลกระทบอื่นๆ ตามมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน