วันที่ 11 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันปรีดี พนมยงค์ นับตามวันเกิดของหัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้นำการปฏิวัติสยามพ.ศ.2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ สู่ระบอบประชาธิปไตย จัดวางรูปแบบการปกครองในระบอบใหม่ วางหลักการประกันสังคม สถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

อีกทั้งยังเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบุรุษอาวุโสคนแรก ของประเทศไทย และเป็นบุคคลสำคัญของโลก ตามมติของที่ประชุมองค์การยูเนสโก

ขณะเดียวกันยังเป็นบุคคลที่ถูกใส่ร้ายจนต้องไปอยู่ต่างประเทศและเสียชีวิตในต่างแดน

การรำลึกถึงปรีดี พนมยงค์ ในวันปรีดี จึงมีมากมายหลายประเด็นและหลายแง่มุมที่น่าศึกษาและเรียนรู้

ความตั้งใจของปรีดี พนมยงค์ในการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองสู่ประชาธิปไตยเป็นประเด็นสำคัญในการรำลึกวาระนี้ เพราะตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ต้องการให้ประชาชนมีสิทธิเสมอภาคกัน มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ

แต่ 86 ปีที่ผ่านมานั้น ประชาธิปไตยของประเทศสะดุดหยุดกับที่และถอยหลังอยู่เป็นระยะ

นับจากยุคของปรีดี พนมยงค์ ที่ประเทศเผชิญความเปลี่ยนแปลงมากมายหลายด้าน ทั้งปัจจัยภายนอกประเทศและภายในประเทศ

ภายในประเทศที่มีทั้งกลุ่มผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางประชาธิปไตย กับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย

รวมถึงกลุ่มที่ยังไม่เข้าใจแนวทางการปกครองนี้ว่าจะมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคนธรรมดาอย่างไร

ถึงวันนี้การเผชิญสถานการณ์ที่มีกลุ่มคนไม่ต้องการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยก็ยังมีอยู่

จึงต่อต้านและไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง หรือทวงถามการเลือกตั้ง

กลับตั้งคำถามว่าจะเรียกร้องเพื่ออะไร ทั้งที่คนทั่วไปกว่า 70 ล้านคนเข้าใจดีถึงโรดแม็ปของรัฐบาล

ท่าทีดังกล่าวเป็นการสรุปเหมารวมความคิดของประชาชนโดยกลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นตัวแทน ของประชาชนและอาจไม่ได้ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยเลย

รวมทั้งอาจไม่เคยรำลึกถึงปรีดี พนมยงค์เลยก็เป็นได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน