การออกมาเคลื่อนไหวของตัวประชาชนและภาคประชาสังคมในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ หรือ “ซูเปอร์บอร์ดสุขภาพ” สะท้อนความเป็นจริงในหลายแง่มุมด้วยกัน

ประการแรก แสดงให้เห็นว่านโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ “30 บาทรักษาทุกโรค” นั้นได้หยั่งฝังลึกลงไปในสังคมไทย

เมื่อมีความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะแก้ไขหรือรื้อถอนสิทธิอันพึงมีพึงได้ อันเป็นบริการพื้นฐาน ที่รัฐต้องจัดให้แก่ประชาชน

ประชาชนก็ออกมาแสดงพลังสำแดงจุดยืนปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง

และรัฐก็ต้องเงี่ยหูรับฟังด้วย

ประการต่อมา แสดงให้เห็นว่ากระบวนการยกร่างกฎหมายของรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และส่วนราชการอื่นในปัจจุบันนั้นดำเนินการไปตามอำเภอใจหรือโดยจุดยืน-ความเชื่อของตนเองเป็นหลัก

มิได้เปิดกว้างรับฟังข้อมูลความเห็นของประชาชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้

มิใช่แต่เฉพาะร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติที่ถูกเคลื่อนไหวต่อต้านอยู่นี้ แต่ยังรวมไปถึงตั้งแต่รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ที่มุ่งแต่จะเพิ่มอำนาจให้แก่ภาครัฐและราชการเป็นหลัก

ละเลยการมีส่วนร่วมและการรับฟังประชาชนอันผู้มีส่วนได้เสีย

และผู้รับผลจากกฎหมายต่างๆ ที่ บังคับใช้

ประการสุดท้าย การเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาตินี้ดำเนินไปโดยภาคประชาชนและภาคประชาสังคมเป็นหลัก

โดยมิได้มีตัวแทนของฝ่ายการเมืองออกมาแสดงจุดยืนหรือท่าทีให้ชัดเจน ทั้งที่พรรคการเมือง บางพรรคเป็นผู้รับผลประโยชน์จากนโยบายประกันสุขภาพโดยตรง

จะอ้างว่าถูกอำนาจทหารหรืออำนาจอื่นๆ กดดันมิให้เคลื่อนไหว ก็ไม่สามารถกล่าวอ้างได้ เมื่อพิจารณาจากการเคลื่อนไหวอื่นๆ ซึ่งเป็น “การเมือง” ยิ่งกว่า

ในกรณีที่ผลประโยชน์ของประชาชนจะถูกรื้อถอนหรือลดทอนลง ถ้าพรรค-นักการเมืองไม่แสดงจุดยืนให้ชัดเจน

ก็ไม่สมควรอ้างตัวว่าเป็น “ผู้แทนของปวงชน” อีกต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน