จากผลการเลือกตั้งในประเทศมาเลเซีย ที่แนวร่วมฝ่ายค้าน “ปากาตัน ฮาราปัน” หรือแนวร่วมแห่งความหวัง นำโดย นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรี วัย 92 ปี และพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ คว้าส.ส.รวมกันได้ 121 ที่นั่งได้จัดตั้งรัฐบาล โดยโค่นพรรคอัมโน หรือแนวร่วมบาริซัน เนชั่นแนล ของนายนาจิบ ราซัก วัย 64 ปี ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลมาตลอด 61 ปี

ทำให้นักการเมืองไทยนำมาเปรียบเทียบกับการเมืองในประเทศในแง่มุมต่างๆ

ส่วนนักวิชาการ มีความเห็นดังนี้

1.นายโคทม อารียา

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล

มาเลเซียมีการเปลี่ยนผ่านในหลักของประชาธิปไตยอย่างสันติวิธี เป็นการเปลี่ยนผ่านที่เป็นไปตามความยินยอมของประชาชน คือ ได้อาณัติมาจากประชาชน

ผู้มีอำนาจในประเทศไทยควรเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในมาเลเซีย ประชาธิปไตยคือการเปลี่ยนผ่านที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน อย่าไปปฏิเสธเรื่องนี้ เป็นการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติวิธี ไม่ต้องมีการใช้กำลังในทางหนึ่งทางใด ไม่ใช่ผู้มีอำนาจอย่างเดียว ประชาชนก็ควรศึกษาไว้ว่าควรนำมาใช้กับประเทศไทยได้แล้วหรือไม่

สำหรับนักการเมืองที่ระบุว่าถ้าอยากรู้เรื่องประชาชนนิยมรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือไม่นั้น ให้รีบจัดการเลือกตั้ง ส่วนตัวมองว่าความอยากให้มีการเลือกตั้งมีมาหลายปีแล้ว ผมคล้อยตามคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯมาตลอด ท่านบอกว่าปี 2559, 2560, 2561 หรือ 2562 ผมก็ยังเชื่อ เพราะเขาเป็นผู้มีอำนาจ

ผมอยากให้มีการจัดการเลือกตั้งให้เร็ว แต่ผู้มีอำนาจบอกว่าให้เป็นไปตามแผน คำว่าแผนของเขาคือใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษ คือเป็นแผนที่เดินทาง หรือโรดแม็ป ทางผู้มีอำนาจก็เดินไปของเขา ถึงผมจะไปแสดงออกว่าอยากให้มีการเลือกตั้ง เขาก็หาคนออกมาบอกว่าเบื่อเลือกตั้งก็ได้ เป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะเชียร์ใคร

แต่ผมอยากเลือกตั้ง ถ้ามาถามผมก็ได้คำตอบเหมือนเดิม อำนาจที่ได้ไปโดยไม่ชอบก็คืนมาเถอะ

ถ้ามีการเลือกตั้งในต้นปีหน้า หากดูจากระบบพอจะบอกได้ว่าไม่มีพรรคใดได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ฉะนั้นรัฐบาลต่อไปก็จะเป็นรัฐบาลผสม ถ้าเอาอย่างที่ผมคิดว่าเหมาะสมที่สุด นายกฯ ไม่ควรจะเป็นผู้ที่มาจากคสช. แต่ไม่ได้หมายความว่าพรรคที่คสช.ทุ่มเทจัดตั้งขึ้นมา ควรไปเป็นฝ่ายค้านอย่างเดียว

แต่เพื่อให้เกิดรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ จะเอาพรรคที่คสช.จัดตั้งมาเข้าร่วมเป็นรัฐบาลก็ได้ เพราะอย่างน้อยก็ได้รับความเห็นชอบมาจากประชาชนส่วนหนึ่ง

รัฐบาลต่อไปไม่ควรที่จะต้องปฏิเสธการเข้าร่วมรัฐบาลจากคสช. แต่ควรปฏิเสธเฉพาะตำแหน่งนายกฯ

2.นายอุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ผอ.ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

ถือเป็นเรื่องตรงกันข้าม เมื่อนำผลการเลือกตั้งมาเลเซียมาเปรียบเทียบกับการเมืองไทย เพราะประการแรก กรณีของมาเลเซียเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบปาฏิหาริย์ ความไม่พอใจของสังคมมาเลเซียสั่งสมมายาวนาน บรรยากาศการเลือกตั้งชาวมาเลเซียเอง ก็ไม่ได้คาดหวังว่าที่สุดแล้วเมื่อผลคะแนนเสียงออกมา ล้มระบอบอุปถัมภ์ที่เข้มแข็งลงได้

ประการถัดมา การลุแก่อำนาจปิดกั้นความคิดเห็นของฝ่ายอำนาจรัฐก่อนและระหว่างการเลือกตั้งโจ่งแจ้งมาก ข่าวปลอมในโซเชี่ยลมีเดีย ถล่มนายมหาเธร์กันเป็นการเฉพาะ ไม่นับรวมกระบวนการศาล ตำรวจลับ ที่นาจิบ ผู้ถืออำนาจรัฐ เคยเป็นรมว.มหาดไทยมาก่อน หยิบกลไกเหล่านั้นมาใช้เล่นงานสกปรกทุกรูปแบบ ใครเป็นฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นส.ส.ตัวเล็กตัวน้อย โดนกันหมด

ประการสุดท้าย ทุกฝ่ายในมาเลเซียต่างทุบโต๊ะ ไม่ว่ายังไงนายนาจิบจะชนะการเลือกตั้ง เพราะฝ่ายค้านแตกแยกกันเอง ดังนั้น สื่อที่สะท้อนถึงผลการเลือกตั้งมาเลเซียว่าเป็นการลุกฮือของประชาชนนั้น คงไม่ใช่ทั้งหมด แต่มันเป็นปาฏิหาริย์

ทั้ง 3 ปัจจัยที่ว่า ไม่ใช่ตัวอย่างสำหรับนำมาใช้เทียบเคียงกับการเมืองของไทย มันอาจคล้ายกันจริง แต่ไม่เหมือนปาฏิหาริย์แบบมาเลเซีย จึงไม่น่าจะเกิดกับไทย แม้ลักษณะทางการเมืองจะมีการรวบอำนาจ การคอร์รัปชั่น แต่การต่อต้านก็ทำได้ยาก

การชูผลการเลือกตั้งมาเลเซีย เพื่อให้กำลังใจฝ่ายประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่สมควรได้รับการสนับสนุน แต่อยากให้ดูข้อเท็จจริงด้วย อย่าด่วนสรุปทุกอย่างเร็วเกินไป เพราะบริบททางการเมืองยังมีความแตกต่างกันมาก

ในกรณีของไทย การรัฐประหาร 2 ครั้งในรอบ 8 ปี การอยู่ในอำนาจของคณะรัฐประหารต่อเนื่อง 4 ปีได้ ผีทักษิณก็ยังอยู่ ซึ่งเรื่องพวกนี้ไม่ว่ายังไงรัฐบาลทหารยังเป็นฝ่ายได้ประโยชน์

ส่วนพื้นที่ทางออนไลน์ที่เกิดกระแสคัดค้านกันอย่างมีความหวังนั้น ส่วนตัวมองว่าออนไลน์จะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว เพราะเป็นเพียงพื้นที่ที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในระยะสั้นๆ เหมือนบ่นๆ กันแล้วก็จบไป พรรคการเมืองต่างหากที่จะเป็นความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เนื่องจากรวบรวมคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันเข้าไว้ด้วยกัน

ปาฏิหาริย์แบบมาเลเซียจะมีโอกาสเกิดขึ้นกับสังคมไทยในการเลือกตั้ง หากจะมีได้ก็ต้องเกิดจากผู้ถืออำนาจรัฐกดทับ โดยไม่เจาะรูระบายจนอัดอั้นกันแบบทนไม่ไหว แต่จากสถานการณ์จะเห็นว่ารัฐบาลทหารเรียนรู้ต่อการผ่อนปรน เช่น กรณีป่าแหว่ง ที่ยอมถอย ความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยหลังการเลือกตั้งจะมีแน่ แต่จะเร็วและแรงมากแค่ไหนขึ้นกับผู้เล่นที่เป็นตัวแสดงของแต่ละฝ่าย

พัฒนาทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย จะเติบโตแน่ ตามบริบทของสังคมไทย ผลการเลือกตั้งของมาเลเซีย จึงไม่ใช่สูตรสำเร็จที่จะใช้นำมาอธิบายปรากฏการณ์ทั้งหมดของเรา

แต่กรณีของมาเลเซียที่พอสรุปได้คือ เป็นสัญญาณเตือนว่า การท้าทายและทำลายระบอบอำนาจนิยมยังคงมีอยู่ พลังดูดแบบเคยๆ คนอย่างนายเนวิน ชิดชอบ ที่เคยปั้นนายกฯ มาแล้ว 3 คน พอถึงเวลาอาจพูดอะไรไม่ออกก็ได้ ตัวอย่างมันมี

3.นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ

อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวิติศาสตร์การเมือง

รัฐบาลของนายนาจิบ ราซัก ถูกมองเรื่องคอร์รัปชั่น และคนที่ทำให้เขาดูไม่ดีคือภริยาของเขาเองที่ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่นและใช้เงินฟุ่มเฟือย รัฐบาลจึงถูกมองไม่ดีมานานแล้ว

การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคที่เรียกว่า พรรคแนวร่วมแห่งความหวังได้คะแนนถึง 54 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่พรรครัฐบาลของนายนาจิบได้ 35 เปอร์เซ็นต์ คะแนนชนะขาดลอยอยู่แล้ว แปลว่าคนไม่เอานายนาจิบที่อยู่มานานเกินไป คอร์รัปชั่นและใช้อำนาจบาตรใหญ่

คนที่อยู่ในอำนาจไม่รู้เลยว่าตัวเองจะหมดอำนาจ เพราะจะหน้ามืดตามัว รัฐบาลเดิมจึงไม่คาดคิดว่าจะถูกคว่ำขนาดนี้ คงคิดว่าตัวเองอยู่มานานจึงมั่นใจและคิดว่าเสียงส่วนใหญ่จะเอาเขาไว้ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่คือเป็นคนมลายู โดยเฉพาะคนในชนบทจะเลือกเขา แต่ปรากฏว่ามันไม่ได้

ฉะนั้นหมายความว่าคนที่เป็นมาเลเซียเชื้อสายจีน อินเดีย ไม่เอานายมหาเธร์ แต่เชื้อสายเหล่านี้ยังมีเสียงไม่มากเท่ามาเลเซียมลายู เมื่อพลิกล็อกอย่างนี้แล้วทำให้นายราจิบพ่ายแพ้อย่างคาดไม่ถึง

นักสังเกตการณ์ในมาเลเซียและทั่วโลก คิดว่านายนาจิบชนะแน่ๆ แต่ครั้งนี้ไม่ได้เสียงอย่างที่คิด ทุกวันนี้ต้องยอมรับสิ่งที่เรียกว่าโซเชี่ยลมีเดียเป็นตัวแปรที่สำคัญของการเลือกตั้ง เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ บล็อกต่างๆ อย่างที่ทราบว่าในคืนสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง นายมหาเธร์ได้เฟซบุ๊กไลฟ์ปราศรัยหาเสียงทิ้งทวนซึ่งมีคนรับชมจำนวนมาก ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสื่อโซเชี่ยลมีเดียที่มีผลต่อการเลือกตั้ง

สำหรับในเมืองไทย คนที่อยู่ในอำนาจปัจจุบันน่าจะหนาว เพราะแปลว่าเสียงสนับสนุนรัฐบาลปัจจุบันมาจากการสนับสนุนให้ทำรัฐประหาร แต่ ณ ตอนนี้เสียงดังกล่าวยังอยู่หรือไม่

ถ้ามีการเลือกตั้งในปี 2562 เสียงที่จะได้จะมาจากไหน ภาคอีสาน เหนือ กลางจะให้เสียงไหม คนกรุงเทพฯ จะให้เสียงหรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบเสียงคนกรุงเทพฯ ก็ให้พรรคประชาธิปัตย์

ส่วนการเลือกตั้งที่เลื่อนมาหลายครั้งแล้ว จะเลื่อนอีกคงยาก ด้วยกระแสไปสู่การต้องมีเลือกตั้ง ถ้าจะเลื่อนหรือไม่มีเลือกตั้ง ก็ต้องมีอุบัติเหตุร้ายแรงถึงจะเลื่อนได้ และทุกวันนี้ยังมีพรรคใหม่ๆ ออกมาหาเสียงมากมาย

อย่างไรก็ตามถ้ามีการเลือกตั้งครั้งหน้า เชื่อว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างแน่นอน เพราะดูจากประวัติศาสตร์ไทย นายกฯ ที่มาจากการยึดอำนาจแล้วคิดว่าจัดการเลือกตั้งจะยังได้กลับมา แต่คงต้องล้มไปตามปกติ ตัวอย่างเช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลถนอม กิตติขจร พล.อ.สุจินดา คราประยูร

ตัวอย่างที่ว่านั้นมีมานานกว่า 61 ปีแล้ว ซึ่งรุ่นพี่ของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) เป็นตัวอย่างเยอะแยะให้ผู้มีอำนาจในปัจจุบันได้เห็น

4.นายยุทธพร อิสรชัย

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ผลการเลือกตั้งของมาเลเซียมีได้สองนัยยะ คือ สะท้อนถึงความไม่พอใจต่อรัฐบาลของนายนาจิบ เพราะมีปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น และอีกนัยยะหนึ่งคือสะท้อนว่า นายมหาเธร์ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ซึ่งเป็นนายกฯ หนึ่งในสองคนกับนายตวนกู ที่ทำประโยชน์ต่างๆ ให้กับมาเลเซียเยอะมาก

ดังนั้น เราจะบอกว่าทั้งหมดเป็นเรื่องของคนมาเลเซียแสดงให้เห็นถึงปฏิกิริยาของความไม่พอใจกับการคอร์รัปชั่น หรือใช้อำนาจที่ไม่เป็นหลักนิติธรรมไปเสียทั้งหมด คงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะนายมหาเธร์เองครั้งหนึ่งก็เคยถูกวิจารณ์เรื่องความเป็นอำนาจนิยม และเรื่องหลักนิติธรรมเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามชัยชนะของนายมหาเธร์ คงไม่ส่งผลกระทบต่อการเมืองไทย แต่จะส่งผลต่อนโยบายชายแดนภาคใต้มากกว่า เพราะในสมัยของนายมหาเธร์ เราไม่มีปัญหาชายแดนภาคใต้เลย เพราะนายมหาเธร์เป็นคนในรัฐเคดาห์ ซึ่งในประวัติศาสตร์ระบุว่าคือส่วนหนึ่งในประเทศไทย จึงมีความเข้าใจต่อในพื้นที่สูงกว่า

แต่สิ่งที่น่าสนใจในปรากฏการณ์ของมาเลเซียคือ ชัยชนะของประชาชน มาตามกระบวนการหรือวิถีทางประชาธิปไตย เราจะเห็นว่าข้อวิจารณ์ต่อปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของนายนาจิบเกิดขึ้นมานานกว่า 2-3 ปีแล้ว มีการชุมนุมประท้วงขับไล่ สุดท้ายวิถีทางแก้ปัญหาไม่ได้ใช้วิถีทางนอกระบอบประชาธิปไตย เช่นรัฐประหาร ยึดอำนาจ แต่ใช้วิถีทางของประชาชนในกระบวนการเลือกตั้ง

น่าจะเป็นบทเรียนให้กับคนที่อยู่ในอำนาจรัฐของประเทศไทยว่า การเมืองวันนี้ถ้ายังเป็นการเมืองแบบชนชั้นนำโอกาสที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น หรือประชาธิปไตยที่เข้มแข็งเป็นหนึ่งเดียวคงเกิดยาก

เพราะการเลือกตั้งเป็นตัวชี้วัดสำคัญ ในการที่จะบอกได้ว่าประชาชนสามารถแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยผ่านกระบวนการของการลงคะแนนเสียง หรือแม้กระทั่งเป็นการประเมินรัฐบาล วันนี้รัฐบาลคสช.อยู่มาครบ 4 ปีแล้ว ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ได้เวลาที่ประชาชนต้องประเมินผ่านกระบวนการเลือกตั้งแล้วว่า จะให้รัฐบาลชุดนี้อยู่ต่อหรือจะต้องเปลี่ยนรัฐบาล

ถ้าได้เลือกตั้งต้นปีหน้าคิดว่าโอกาสเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะไม่เกิดอะไรมากมาย แต่จะมีผลสูงเหมือนกัน นั่นคือโอกาสที่จะมีนายกฯคนนอก โอกาสที่จะมีรัฐบาลผสมมาจากพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก เพราะวันนี้กติกาเอื้ออำนวยให้คณิตศาสตร์ทางการเมืองในสภาทำงานได้ดี อาทิ กติกาการเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม กติกาในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อให้ส.ว.เข้ามามีส่วนร่วม หรือเปิดทางให้มีนายกฯ คนนอก แต่คณิตศาสตร์ทางการเมืองเหล่านี้ไม่ได้ตอบสนองเจตจำนงของประชาชน เพราะไม่ได้บอกว่าพรรคที่ประชาชนเลือกมามากที่สุดจะได้เป็นรัฐบาล

แต่คณิตศาสตร์ทางการเมืองนี้บอกว่าใครสะสมคะแนนทำแต้มได้ล่วงหน้าเกินกว่าครึ่งหนึ่งก็จะได้เป็นรัฐบาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน