ความพยายามปฏิรูปของผู้เกี่ยวข้องในแม่น้ำห้าสายจากการรัฐประหารเมื่อ 4 ปีก่อนมาถึงจุดที่เริ่มอึดอัดและท้อแท้ เมื่อดูจากคำให้สัมภาษณ์ของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย

โดยเฉพาะในประเด็นที่โยกย้ายงานให้ส่วนราชการเป็นผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสำเร็จ เพราะเหมือนกับให้ผู้ที่ถูกปฏิรูปมาทำเรื่องปฏิรูปเอง ทั้งยังคิดแบบค่อยเป็นค่อยไป ต่างจากกรรมการปฏิรูปที่ต้องการลงมือทำในทันที

มุมมองดังกล่าวนี้ตรงไปตรงมาและมองตามสภาพความเป็นจริง

ยิ่งหากมองลึกลงไปยังสภาพความเป็นจริงกว่านี้จะพบว่าการปฏิรูปจะขับเคลื่อนไปโดยลำพังอย่างไร ถ้าไม่มีประชาชนหนุนหลัง

แม้มีผู้ยกตัวอย่างผลงานการปฏิรูปประเทศว่าเห็นผลในด้านเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศมีขีดความสามารถด้านการแข่งขัน

เช่น มีอันดับดีขึ้น 3 ปีต่อเนื่องจากการวัดผลและจัดอันดับโดยสถาบันระหว่างประเทศ อีกทั้งก้าวกระโดดในด้านการจัดอันดับความยากง่าย ในการทำธุรกิจของธนาคารโลกที่ขยับขึ้นถึง 20 อันดับอันเป็นผลมาจากการปฏิรูปกฎระเบียบที่ ล้าหลัง

แต่ยังเป็นคำถามที่รอคำตอบอยู่ว่า ผลของการปฏิรูปดังกล่าวที่สร้างความพึงพอใจให้นักลงทุนนานาชาตินั้นส่งผลถึงประชาชนทั่วไปแล้วหรือไม่

แน่นอนว่า การปฏิรูปนั้นต้องสะสางและทำต่อไปเรื่อยๆ แต่ก็ควรมีช่วงเวลาประเมินผลของการปฏิรูปนั้นๆ

ผู้ตัดสินได้ชัดเจนที่สุดต้องเป็นประชาชนคนส่วนใหญ่ในประเทศ

สําหรับแนวทางการปฏิรูปต่อไปในช่วงถ่ายโอนอำนาจจากรัฐบาลทหารสู่รัฐบาลพลเรือนนั้น แม้จะมีบทบัญญัติให้การปฏิรูปอยู่ ในบทถาวรของรัฐธรรมนูญแล้ว อีกทั้งยังเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ยากยิ่ง อีกทั้งยังมีวุฒิ สมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งอีก แต่ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องฟังเสียงประชาชนเป็นสำคัญ

ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูปการเมือง หรือการปฏิรูปเศรษฐกิจรากหญ้า

พรรคการเมืองต่างๆ ที่จะลงสู่สนามเลือกตั้งในอนาคต ต้องหาแนวทางให้แน่ชัดสำหรับแผนงานปฏิรูป

เพราะในยุค คสช.ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอะไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน