เมื่อวันที่ 7 ก.ย. เอเอฟพีรายงานวิเคราะห์บทบาทและผลงานของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ผู้นำสหรัฐอเมริกา ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะเดินทางมาเยือนสปป.ลาว เพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ว่านายโอบามาประสบความสำเร็จดีในการสร้างมิตรใหม่ๆ ในอาเซียน และใส่ใจกว่าในยุคจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แต่ความล้มเหลวที่สุดกลับเป็นกรณีของไทย มหามิตรเก่าแก่ที่สุดในภูมิภาค

ในการมาเยือนสปป.ลาว ซึ่งเป็นการทิ้งทวนก่อนหมดวาระ นายโอบามาแสดงให้เห็นถึงผลงานที่ดำรงตำแหน่งมา 8 ปี ผลักดันยุทธศาสตร์ให้สหรัฐหวนกลับมาใกล้ชิดกับภูมิภาคเอเชีย ผู้นำสหรัฐผูกมิตรกับลาวด้วยท่าทีจริงใจ รวมถึงสนับสนุนงบประมาณต่อเนื่อง 3 ปี มูลค่า 90 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3,150 ล้านบาทสำหรับโครงการเยียวยาผลกระทบจากกับระเบิดที่สหรัฐเคยทิ้งไว้ในยุคสงครามเวียดนาม

นอกจากนี้นายโอบามายังกระชับสัมพันธ์แนบแน่นกับเวียดนาม รวมถึงพม่าที่เดินทางมาเยือนถึง 2 ครั้ง ช่วยสร้างความมั่นใจให้เหล่าผู้นำทหารเดินหน้าสู่การเลือกตั้งที่มีรัฐบาลพลเรือนนำโดยนางออง ซาน ซู จี ได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไทยที่เกิดรัฐประหารปี 2557 การทูตของสหรัฐกลับแข็งทื่อ สหรัฐไม่อาจทำให้เหล่าผู้นำกองทัพฟื้นฟูการเลือกตั้งได้อย่างรวดเร็ว หรือผ่อนปรนการควบคุมผู้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล เมื่อสหรัฐออกโรงเตือนเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ย่ำแย่ลง กลับไม่ได้รับการตอบสนอง มีแต่การแสดงอารมณ์หงุดหงิดรำคาญใจจากไทย
มาตรการที่สหรัฐใช้มีเพียงการระงับงบประมาณทางทหารเกือบ 5 ล้านดอลลาร์ หรือราว 175 ล้านบาท แต่ไม่ได้ระงับความร่วมมือทางกองทัพ ยังคงมีการฝึกทหารร่วมประจำปีเช่นเดิม ในขณะที่เจ้าหน้าที่สหรัฐต่างเกรงว่าไทยจะตีตัวออกห่างสหรัฐไปหาจีนมากขึ้นทุกที และอาจสายไปแล้วสำหรับรัฐบาลยุคโอบามาที่จะแก้ไขอะไรในขณะนี้


เออร์เนสต์ บาวเวอร์ จากศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปกป้องอำนาจกองทัพ ทหารก็จะครองบทบาทหลักในการจัดรูปแบบการเมืองใหม่

เดส วอลตัน อดีตเจ้าหน้าที่ทูตทหารในกรุงเทพฯ กล่าวว่า ผู้มีอำนาจขยายความสัมพันธ์กับจีนและรัสเซีย จนมองไม่เห็นว่า จะสอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐอย่างไร
“ถ้าคุณมาจากเกาหลี ทุกทางที่ลงไปยังประเทศไทย คุณจะเจอแต่แนวที่เป็นจีนทั้งหมด ไม่มีจุดไหนเลยที่จะให้สหรัฐเข้าไปถึงใจกลางเอเชียได้ มีแต่ประเทศไทย” นายวอลตันกล่าว

สำหรับความหวาดกลัวว่าคนในสังคมไทยจะย้ายข้างมาต่อต้านสหรัฐนั้น อาจเร็วเกินไปที่จะสรุปเช่นนั้น เพราะแม้กลุ่มอนุรักษนิยมมักฮึดฮัดกับคำตำหนิของรัฐบาลสหรัฐต่อรัฐบาลทหาร แต่ในเรื่องขยายการค้า การศึกษา และความเชื่อมโยงทางการทูตก็ยังดีอยู่

ขณะเดียวกัน แม้ว่ารัฐบาลจีนจะไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์ไทย แต่ถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้สนับสนุนอะไรเต็มที่ ดูได้จากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ยังไม่ไปถึงไหน สหรัฐเองจึงยังมีโอกาสอยู่ เพียงแต่คงไม่ทันแล้วในยุครัฐบาลโอบามา


“ผมคิดว่าการแทรกแซงระดับประธานาธิบดีจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่คงไม่เกิดในรัฐบาลโอบามาแล้ว” นายบาวเวอร์กล่าว หลังจากไม่มีการพบปะระดับทวิภาคีระหว่างโอบามากับผู้นำไทยบนเวทีการประชุมที่ลาว แม้จะมีการร่วมโต๊ะอาหารค่ำเดียวกันในงานเลี้ยงของอาเซียน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน