หากถือว่าการวิพากษ์วิจารณ์ผลงาน 4 ปี รัฐบาล คสช.อันมาจาก แกนนำพรรคเพื่อไทยรุนแรง

ถามว่าบทสรุปจากนายบวรศักดิ์ อุวรรโณ รุนแรงหรือไม่

ถามว่าบทสรุปจากนายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ดุเดือด เข้มข้น และรุนแรงหรือไม่

ถามเช่นนี้มิได้ต้องการให้ไปเล่นงาน ไม่ว่าจะเป็นกรณีของนายบวรศักดิ์ อุวรรโณ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของนายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ก็ตาม

เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องปกติ

เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพโดยพื้นฐานตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

การเล่นงานแกนนำพรรคเพื่อไทยต่างหากที่ผิดปกติ

อย่าลืมว่าคำสั่งคสช.ฉบับที่ 57/2557 ออกมาเมื่อใด อย่าลืมว่า คำสั่งคสช.ฉบับที่ 3/2558 ออกมาเมื่อใด

นั่นเป็นสภาพหลัง “รัฐประหาร”ใหม่ๆ

มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการเข้มเพื่อมิให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหว

มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการเข้มเพื่อมิให้มีการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน แต่นี่เป็นเดือนพฤษภาคม 2561

สถานการณ์รัฐประหารผ่านมาแล้วเป็นเวลา 4 ปี และอยู่ในบรรยากาศอย่างที่เรียกว่า “โหมด”ของการเลือกตั้ง

การที่พรรคการเมืองหรือนักการเมืองจะแสดงความเห็นต่อความสำเร็จและความล้มเหลวของการรัฐประหารเป็นเรื่องปกติยิ่งในทางการเมือง

การมีคำสั่ง”ห้าม”ต่างหากที่ไม่เป็นปกติ การที่คสช.มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่างหากที่ไม่เป็นปกติ

ยิ่งมองจากด้านของ “ประชาธิปไตย” ยิ่งผิด “ธรรมชาติ”

ตามขนบแห่งประชาธิปไตยเมื่อนายบวรศักดิ์ อุวรรโณ เห็นว่าการปฏิรูปไม่ไปถึงไหน มีแต่ “แผน”ไม่มี “การปฏิบัติ”

เมื่อนายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ เห็นว่า “กลัดกระดุมผิด”

การมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม ออกมาชี้แจงก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องไปร้องทุกข์กล่าวโทษ เหมือนกับที่กระทำกับแกนนำพรรคเพื่อไทย

เพราะในที่สุดก็เท่ากับยืนยันใน “ความล้มเหลว”ของตนเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน