สะท้านสะเทือนวงการสงฆ์ กระทบจิตใจบรรดาพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งประเทศมากพอสมควร

กรณีสางคดีทุจริตเงินทอนวัดที่เป็นข่าวอื้อฉาวดงขมิ้นมาพักใหญ่ เดินทางมาถึงจุดที่มีการ ออกหมายจับ และบุกจับกุมพระเถระชั้นผู้ใหญ่หลายรูป ทั้งระดับรองสมเด็จ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดดัง

นำตัวมาสอบสวนทั้งจีวร ฝากขังศาล จับสึก ส่งเข้าเรือนจำ ครบวงจรภายในวันเดียว

กับอีกฉากน่าตื่นตะลึง เช้าตรู่วันเดียวกัน หน่วยคอมมานโดกองปราบฯ ร่วมร้อยนาย บุกวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ตลบมุ้งจับกุม พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม หรือ พุทธะอิสระ

ข้อหาสนับสนุนให้มีการปล้นทรัพย์ ทำร้าย เจ้าหน้าที่ระหว่างการชุมนุมกลุ่มกปปส.เมื่อ ปี 2556 ต่อเนื่อง 2557 รวมถึงปลอมแปลง พระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” และ “สก”

คุมตัวมาสอบสวนที่กองปราบฯ ลงเอยด้วย การถูกจับสึก เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำระหว่างรอต่อสู้คดี เนื่องจากศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัว

ก็ต้องเฝ้าดูกันต่อไปโดยเฉพาะกรณีพุทธะอิสระ จะส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ เนื่องจากเคยเป็น แกนนำกปปส. มีเวทีแจ้งวัฒนะและ”กรวยศักดิ์สิทธิ์”เป็นของตัวเอง

ในช่วงชุมนุม “ชัตดาวน์” ประเทศ ร่วมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556 ต่อเนื่อง 2557 ซึ่งเป็นการเปิดประตูให้กับการรัฐประหารของคสช.

ที่เพิ่งยึดอำนาจครบ 4 ปี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางบรรยากาศคุกรุ่น เป็นผลจากการสกัดกั้นการชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

จับกุม 15 แกนนำดำเนินคดีในหลายข้อหา หลักๆคือฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และผิดกฎหมายอาญา มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

โดยก่อนหน้าไม่กี่วันคสช.เพิ่งแจ้งดำเนินคดีข้อหาเดียวกันนี้กับ 8 แกนนำพรรคเพื่อไทย

กรณีเปิดแถลงข่าว “4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาลและคสช. นำประเทศไปสู่ความมืดมนและอันตราย” ซึ่งก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ตามมา ว่าน่าจะเป็น “เกมการเมือง”

เพราะพรรคเพื่อไทยถือเป็น”คู่แข่ง”ทางการเมืองของรัฐบาลคสช. ที่ระยะหลังมีความเคลื่อน ไหวชัดเจนในการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจหลังเลือกตั้ง

บางคนตั้งข้อสงสัยไปไกลถึงขั้นว่ากรณี 8 แกนนำเพื่อไทย อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของแผนการ “ยุบพรรค” และ “ตัดสิทธิทางการเมือง” เสียด้วยซ้ำ

แน่นอนว่าในมุมของ 8 แกนนำพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ต้องหาจะอย่างไรก็ต้องปฏิเสธไว้ก่อนว่า ไม่ได้ทำอะไรผิดตามที่ คสช.กล่าวหา

แต่ครั้งนี้แตกต่างออกไปตรงที่มีนักวิชาการ รวมถึงนักการเมืองแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแสดงความเห็นพ้องกับพรรคเพื่อไทยว่า รัฐบาลคสช.บังคับใช้กฎหมายเข้มงวดเกินกว่าเหตุ

ทำให้บรรยากาศการเมืองช่วงเริ่มเข้าสู่โหมดเลือกตั้งเสียหาย ทั้งยังสะท้อนถึงการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปกป้องอำนาจของตนเอง ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพประชาชนและนักการเมือง

ข้อวิจารณ์การกระทำของคสช.และรัฐบาลยังรวมไปถึงการจับกุมดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยเช่นกัน

ในเมื่อรัฐบาลคสช.อยู่มา 4 ปี เท่ากับวาระรัฐบาลปกติในระบอบประชาธิปไตย แต่กลับไม่มีความชัดเจนในการจัดการเลือกตั้ง จึงเป็นสิทธิของประชาชนเจ้าของประเทศ ที่จะออกมาทวงถาม

อีกทั้งความผิดฐานชุมนุมเกิน 5 คน ไม่ใช่ความผิดตามกฎหมายปกติ แต่ผิดเพราะคสช.บอกว่าผิด

การใช้กำลังเจ้าหน้าที่มากกว่า 2,000 นาย เข้าสกัดขัดขวางล้อมกรอบกลุ่มผู้ชุมนุมแค่หยิบมือ ยังทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดกระแสตีกลับ

โดยเฉพาะปัจจัยแรงกดดันจากต่างประเทศ นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาลและคสช. อย่างสำนัก งานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และองค์กรแอมเนสตี้ เป็นต้น

จะมีสัญญาณดีอยู่บ้างก็ตรงที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ที่สนช.เข้าชื่อยื่นตีความ ในประเด็นบทเฉพาะกาลใช้ในวาระเริ่มแรก กำหนดให้การสรรหาส.ว.มีการกำหนดจำนวนกลุ่ม ผู้สมัคร วิธีการสมัคร และกระบวนการเลือกแตกต่างจากบททั่วไป

ไม่ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ส่วนพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงลงมติวันที่ 30 พฤษภาคมนี้

ซึ่งก็ต้องไปลุ้นกันอีกว่าผลจะออกมาอย่างไร โดยฝ่ายแกนนำรัฐบาลและคสช.คาดว่าพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส.ไม่น่ามีปัญหา น่าจะผ่านไปได้

หากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับกฎหมายลูกที่จำเป็นสำหรับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ รวมถึง พ.ร.ป.พรรคการเมือง และพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผ่านแล้วทั้งหมด

นำไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแม็ปเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศไว้

ส่วนที่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเร็วกว่านั้น ได้หรือไม่

อย่างเช่นภายในปลายปีนี้ตามข้อเรียกร้อง ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ด้วยการให้สนช. แก้ไขพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. ตัดเงื่อนไขการบังคับใช้กฎหมาย 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาทิ้งไป

ซึ่งในทางทฤษฎีทำได้ แต่ในทางปฏิบัติ ขึ้นอยู่กับคสช.เพียงผู้เดียว

และที่สำคัญการจะ “เลื่อน” หรือ “ร่น” โรดแม็ป ยังขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมของคสช. ในการสืบทอดอำนาจผ่านการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงเลือกตั้ง

ขณะที่สถานการณ์การเมืองช่วงโค้งสุดท้าย แปรเปลี่ยนไม่หยุด

การใช้ “พลังดูด” อดีตส.ส.เข้าพรรค ได้ผลในระดับหนึ่งก็จริง แต่อีกด้านหนึ่งก็ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ในทางลบว่าเป็นการเล่นการเมืองแบบเก่า ไม่สอดคล้องการปฏิรูปที่คสช.พยายามชูเป็นผลงานเด่น

ในจังหวะเลือดเข้าตา คสช.ไม่มีเวลามาสนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากนัก คิดแต่ว่าจะทำอย่างไรถึงจะกวาดต้อนอดีตส.ส.มาไว้ให้ได้มากที่สุด

เพราะในการช่วงชิงอำนาจขั้นสุดท้าย ถึงคสช.จะมีส.ว.แต่งตั้ง 250 เสียงอยู่ในมือ แต่การจะเป็นผู้นำรัฐบาลแล้วอยู่ได้นาน จำเป็นต้องมีเสียงส.ส.ในสภาอย่างน้อย 250 เสียง ปัญหาคือจะได้ 250 ส.ส.นี้อย่างไร

ต่อให้มีการจัดตั้งพรรค “รวมพลังประชาชาติไทย” ขึ้นมา มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำ กปปส. เป็นผู้บริหารจัดการอยู่เบื้องหลัง ในรูปแบบคล้าย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ กับ พรรคพลังประชารัฐ

อย่างมากก็น่าเป็นได้แค่พรรคขนาดกลาง

อีกอย่างที่น่าสนใจคือน้ำเสียงของนายสุเทพ ที่เปลี่ยนไป จากที่เคยยืนกรานแต่ไหนแต่ไรว่า พร้อมหนุนพล.อ.ประยุทธ์ สืบทอดเก้าอี้นายกฯ อีกสมัย

แต่จู่ๆ กลับพลิกพลิ้ว อ้างที่ผ่านมาไม่เคยพูดว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ คนต่อไป เพียงแต่สนับสนุนให้ทำหน้าที่นายกฯ ขณะนี้ให้สมบูรณ์เท่านั้น

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุ จากสถิติการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ได้ส.ส.รวมกันเกิน 400 เสียง

แม้วิธีการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเปลี่ยนไป เป็นบัตรใบเดียวเลือกส.ส. 2 ระบบ แต่ก็ยังเชื่อว่า 2 พรรคใหญ่จะได้ส.ส.รวมกันเกิน 250 เสียง อยู่ดี

หากว่าในเดือนมิถุนายนนี้ ที่คาดว่าการเมืองจะเดินหน้าเข้าโหมดเลือกตั้งเต็มตัว

กดเครื่องคิดเลข บวกลบคูณหารจำนวนส.ส. เก่าในมือ หากคำนวณแล้วยังได้ไม่ถึงจำนวนเท่าที่จำเป็นต่อการตั้งรัฐบาลแล้วอยู่ได้ ข้อแนะนำก็คือ

คสช.ควรถอยดีกว่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน