ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวที่สั่นสะเทือน ช็อกความรู้สึกคณะสงฆ์ ตลอดจนผู้ที่เคารพศรัทธาต่อพระสงฆ์ที่ถูกจับกุมดำเนินคดี ถือเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ที่พระผู้ใหญ่ระดับพระราชาคณะเจ้าคณะรองต้องข้อหา

พระสงฆ์ 5 รูป ประกอบด้วยอดีตเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง และเลขานุการเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันฟอกเงิน ต้องถูกนำตัวไปคุมขังในเรือนจำ ในสภาพนุ่งขาวห่มขาว

อีกรูปนั้น มีพฤติกรรมฝักใฝ่การเมือง ซ่องสุมผู้คนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งใช้ความรุนแรงจนเป็นที่ประจักษ์ จึงถูกดำเนินคดีข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร รวมถึงการปลอมพระปรมาภิไธยย่อ

แม้จะอ้างว่าไม่ได้เปล่งวาจาลาสิกขา ก็ต้องถือว่าขาดจากความเป็นพระ

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 หมวด 4 นิคหกรรมและการสละสมณเพศ บัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา 29 พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว และเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัด ไม่รับมอบตัวไว้ควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม หรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้

มาตรา 30 เมื่อจะต้องจำคุก กักขัง หรือขังพระภิกษุรูปใดตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลมีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ และให้รายงานให้ศาลทราบถึงการสละสมณเพศนั้น

เป็นข้อกฎหมายที่ใช้สึกพระ ก่อนจะส่งเข้าเรือนจำ

กรณีที่เกิดขึ้น มีการนำไปเปรียบเทียบกับคดีอดีตพระพิมลธรรม(อาจ อาสภมหาเถร) ซึ่งถูกรัฐบาลในขณะนั้นเล่นงานทางการเมือง แจ้งข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง และกล่าวหาว่าเสพเมถุน ต้องอาบัติปาราชิก

ผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปลื้องผ้าเหลือง แต่ยังนุ่งขาวห่มขาว ปฏิบัติเสมือนพระสงฆ์ทุกประการ อีกทั้งมิได้ถูกคุมขังที่เรือนจำ แต่อยู่ในความควบคุมของตำรวจสันติบาล อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่เหมือนเช่นในปัจจุบัน

จึงเป็นคนละกรณีกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน