บทบรรณาธิการ

ไม่ว่าจะเรียกในชื่อว่า “จำนำยุ้งฉาง” หรือการ “ชะลอขายข้าว” ของชาวนา

ไม่ว่าจะเรียกในชื่อว่า “การช่วยเหลือผู้มี รายได้น้อย” หรือการ “แจกเงิน” ให้กับประชาชนจับจ่ายใช้สอยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่

ประเด็นก็คือการ “อัดฉีด” เงินลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจ อัดฉีดลงไปสู่มือของผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ ในสังคม

โดยหวังว่าการใช้จ่ายและกำลังซื้อของ “รากหญ้า” เหล่านี้ จะทำให้การค้า การผลิต และการลงทุนกลับมาหมุนเวียนเป็นปกติหรือใกล้เคียงกับระดับปกติอีกครั้ง

ในยามที่ภาวะเศรษฐกิจมีทีท่าจะชะลอตัว

เคยมีผลการวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเส็ตต์(เอ็มไอที) ที่สำรวจโครงการ “ประชานิยม” ในประเทศกำลังพัฒนา 7 แห่ง อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฮอนดูรัส ระบุว่า

การที่รัฐแจกจ่ายเงินอุดหนุนให้กับประชาชนที่มีฐานะยากจนกว่าคนกลุ่มอื่นๆ นั้น ไม่ได้เป็นการทำให้ประชาชน “นิสัยเสีย” หรืองอมืองอเท้ารอแต่ความช่วยเหลือมากขึ้นกว่าเดิมตามที่มีผู้วิจารณ์

ในทางตรงข้ามส่วนใหญ่ของผู้ได้รับการช่วยเหลือเหล่านี้ใช้ประโยชน์จากเงินช่วยเหลือในแง่การศึกษาของบุตรหลาน และค่าใช้จ่ายเรื่องการรักษาพยาบาล

ในขณะที่ชั่วโมงการทำงานยังอยู่ในระดับเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลง

แต่อย่างไรก็ดี รายงานวิจัยระบุด้วยว่า หากจะให้โครงการช่วยเหลือมีประสิทธิภาพ คุ้มค่าแล้ว การจ่ายเงินควรจะพุ่งเป้าไปในสิ่งที่ผู้รับต้องการ

อาทิ ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลาน หรือการลดภาระด้านสาธารณสุขของผู้มีรายได้น้อย

ในกรณีล่าสุด การแจกจ่ายเงินให้กับประชาชน จะทำให้เกิดผลที่ได้รับตามวัตถุประสงค์หรือไม่ หรือจะมีประสิทธิภาพคุ้มค่ากับภาษีที่ต้องจ่ายไปหรือไม่

ต้องวัดประเมินกันในภายหลังว่าเงินที่แจกจ่ายไปนั้น ไปตรงกลุ่มตรงเป้าตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้เงินหรือไม่

ยังเร็วไปเกินกว่าที่จะติเรือทั้งโกลน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน