ศาลรัฐธรรมนูญเปิดไฟเขียวเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด

วินิจฉัยชี้ขาดร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับในหมวดเลือกตั้ง ไม่ว่าร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่สมาชิกสนช.เข้าชื่อยื่นให้วินิจฉัยตีความ

ไม่มีมาตราใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ

รวมถึงคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 เรื่องดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ตามที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยยื่นคำร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ

เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งดังกล่าว อาจมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในหลายมาตรา ลิดรอนสิทธิสมาชิกพรรคและเพิ่มภาระให้พรรคการเมือง จนอาจเป็นเหตุให้พรรคต้องสิ้นสภาพไป

ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่า ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ทุกอย่างเริ่มเข้ารูปเข้ารอย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ยืนยันหากสนช.ส่งร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับมาให้เมื่อไหร่ ก็จะลงนามนำขึ้นทูลเกล้าฯ ทันที พร้อม “ปักหมุด” โรดแม็ป

เลือกตั้งก.พ.2562 แน่นอน

อย่างไรก็ตาม ถึงประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งจะจบแล้วในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ

ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาอุปสรรค อื่นๆ จบตามไปด้วย เนื่องจากพรรคการ เมืองยังตกอยู่ในสภาพถูก “แช่แข็ง” จากประกาศคำสั่งคสช.หลายฉบับ

ทั้งประกาศคสช.ฉบับที่ 57/2557 ห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมดำเนินการประชุมหรือดำเนินกิจกรรมใดๆ ในทางการเมือง

คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ข้อ 12 ที่ยังห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ตลอดจนคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้วว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ในส่วนของพรรคการเมืองมองมุมต่าง พร้อมทั้งเรียกร้องไปยังคสช.

เร่ง”ปลดล็อก”ประกาศคำสั่งทั้ง 3 ฉบับ

สร้างบรรยากาศการเลือกตั้งให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกพรรคการเมือง ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ไม่ว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม หรือพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่

เพื่อสนับสนุนคสช. หรือไม่สนับสนุนก็ตาม

เพราะมีแต่การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์เที่ยงธรรมเท่านั้น ที่จะแก้ไขและยุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองทั้งหมดทั้งมวลที่ดำเนินมายาวนานนับสิบปีลงได้

และสำคัญคือต้องเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์เที่ยงธรรมตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จะตัดตอนมาเพียงแค่ช่วงใดช่วงหนึ่งไม่ได้

ไม่เช่นนั้นก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์เที่ยงธรรมอย่างแท้จริง ซึ่งผลที่จะตามมาคือความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่มีวันจบสิ้น

โรดแม็ปเลือกตั้งเริ่มขยับเดินหน้า

โจทย์การบ้านข้อใหญ่ของรัฐบาลและคสช. ยังอยู่ที่พรรคการเมืองและพรรคแนวร่วมที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจ ว่าจะทำอย่างไรให้ผลเลือกตั้งได้เสียงส.ส.ข้างมากในสภา

ตามสมการตัวเลขที่ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการนิติศาสตร์ มธ.ระบุ หากคสช.จะจัดตั้งรัฐบาลและต้องการอยู่ในอำนาจต่อได้นานๆ ต้องรวบรวมเสียงส.ส.ในสภาให้ได้อย่างน้อย 250 เสียงขึ้นไป

ซึ่งหากดูจากสภาพการณ์ตอนนี้ ยังลูกผีลูกคน

การดูดนักการเมืองกลุ่มต่างๆ เพื่อเตรียมมาเป็นฐานการเมืองรองรับในอนาคต

ถึงจะมีการเปิดรายชื่อแกนนำนักการเมืองกลุ่มใหญ่ๆ ดังๆ หลายกลุ่ม บวกกับรายชื่ออดีตส.ส.-ส.ว. 54 คนแบบจริงมั่ง มั่วมั่ง ว่าเป็นกลุ่มที่แสดงเจตจำนงต้องการเข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ

แต่ดูจากรายชื่อแล้วส่วนใหญ่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นอดีตส.ส.แถว 2 แถว 3 ในพรรคเดิม ไม่ใช่ตัวหลัก แถมหลายคนก็เป็นอดีตส.ส.รุ่นก่อนเลือกตั้งปี 2554 ที่ร้างสนามมานาน

นายศรีเรศ โกฎคำลือ อดีตส.ส.เชียงใหม่ ที่มีชื่อเป็น 1 ใน 54 คน ปฏิเสธข่าวเตรียมย้ายไปอยู่พรรคพลังประชารัฐว่า ไม่เป็นความจริง ไม่เคยมีใครมาติดต่อทาบทาม พร้อมยืนยันยังอยู่กับพรรคเพื่อไทย ไม่ย้ายไปไหนแน่นอน

น่าสนใจคือนายยรรยง ร่วมพัฒนา อดีตส.ส.สุรินทร์ 6 สมัย อดีตส.ว.อีก 1 สมัย สมาชิกพรรคภูมิใจไทย ยอมรับได้รับการติดต่อทาบทามจากผู้ใหญ่พรรคพลังประชารัฐจริง แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ

“กระแสการเลือกตั้งครั้งหน้า เชื่อว่าทุกพรรคจะพากันไปตายโดยถ้วนหน้า ภาคอีสาน 20 จังหวัดยากจะผ่านด่านพรรคเพื่อไทยไปได้ โดยเฉพาะจังหวัดสุรินทร์ แทบมองไม่เห็นว่าจะมีคนของพรรคใดสอดแทรกเข้ามาได้”

พรรคพลังประชารัฐ หากไปไม่ได้ไกลกว่านี้ ต่อให้รวมกับพรรคตั้งใหม่ไม่ว่าพรรคพลังธรรมใหม่ พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลังชาติไทย และพรรคอื่นๆ

ดูจากปริมาณก็ยังไม่น่าจะมากพอเป็นฐานสนับสนุนมั่นคงแข็งแรงให้กับรัฐบาลและคสช.ได้ในอนาคต

ประกอบกับการแจ้งเกิดพรรคอนาคตใหม่ การชูประเด็นรื้อแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้งฉบับ รวมถึงประเด็นนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดีการเมืองในยุคคสช. ได้รับการตอบรับจากสังคมอย่างกว้างขวาง พรรคการเมืองในปีกประชาธิปไตย ต่างก็พร้อมจับมือสนับสนุน

ในส่วนของพรรคเพื่อไทยเอง ถึงจะตกเป็นฝ่ายผู้ถูกกระทำมาตลอด 4 ปีของคสช. แต่กลายเป็นว่ายิ่งตียิ่งโต ยิ่งโดนรังแกยิ่ง ได้รับคะแนนสงสาร แผนขุดรากถอนโคนของคสช. ดูเหมือนจะไม่ได้ผล

ตรงนี้เองเป็นที่มาปรากฏการณ์ “หลั่งน้ำตา ตระบัดสัตย์” ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำกปปส. ที่อาสากลับมาทำหน้าที่ปูทางสืบทอดอำนาจให้กับคสช.อีกครั้ง

หลังเคยปูทางให้ยึดอำนาจมาแล้วเมื่อ 4 ปีก่อน

การเปิดตัวเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย

ถึงจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา รวมถึงพลพรรค “ชาวนกหวีด” บางคน ที่แสดงออกถึงอาการผิดหวังกับการตระบัดสัตย์ของลุงกำนัน

แต่ด้านหนึ่งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ก็สร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองได้พอสมควร โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องรีบแก้เกมปัดฝุ่นชื่อ นายชวน หลีกภัย ขึ้นมาสะกดข่ม ป้องกันลูกพรรคย้ายค่าย

ด้วยเชื่อว่าในพื้นที่ภาคใต้ ถึงอย่างไรบารมีของ “ชวน” ยังเต็มถัง ยากจะหาคนมาทัดเทียม ต่อให้เป็นนายสุเทพ ก็ยังถือว่าห่างชั้น อย่างมากก็แค่ได้ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แสดงท่าทีต่อการเปิดตัวพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ “สุเทพ” แตกต่างคนละอารมณ์กับการเปิดตัวพรรคอนาคตใหม่ของ “ธนาธร-ปิยบุตร” อย่างเห็นได้ชัด

ในจังหวะที่พรรคเพื่อไทย เป้าหมายหลักของคสช. ไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีของพรรคนายสุเทพ เท่าใดนัก

อีกแง่มุมหนึ่ง เผลอๆ พรรคของนายสุเทพ ยังอาจมาตัดคะแนนกันเองกับพรรคพลังประชารัฐเสียด้วยซ้ำ ยิ่งทำให้แผนการสืบทอดอำนาจเกิดความไม่แน่นอนมากขึ้น

คือเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลคสช. ยังจำเป็น ต้องยื้อ”ล็อก”ไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าประกาศคสช.ฉบับที่ 57/2557 ไม่ว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 หรือคำสั่งคสช.ที่ 53/2560

โดยไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมา

หากการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์เที่ยงธรรมตั้งแต่ต้นน้ำ ไม่ว่าปลายน้ำจะออกมาอย่างไร ต่อให้คสช.เป็นฝ่ายชนะ ก็ยากจะยุติความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมายาวนานลงได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน