ง่วงฟังงบฯ

บทบรรณาธิการ

สื่อโซเชี่ยลถูกตั้งประเด็นว่าเป็นเวทีแสดงความคิดเห็นที่ดุเดือดทางสังคมและการเมืองอีกครั้ง หลังจากมีภาพสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหลับในห้องประชุม แชร์สะพัดในอินเตอร์เน็ต

ส่วนคำวิจารณ์ต่อรัฐบาลและสมาชิกในคณะรัฐมนตรีก็ปรากฏอย่างต่อเนื่องอยู่ในโลกโซเชี่ยลเช่นเดียวกัน

คำวิจารณ์เสียดสีหรือล้อเลียนต่างๆ ต่อรัฐบาลหรือบุคคลทางการเมืองนี้ เป็นลักษณะเดียวกันเกือบทั้งโลก

กล่าวคือในเนื้อหาที่วิจารณ์นั้นมีทั้งเท็จและจริง มีทั้งโต้แย้งและคล้อยตาม มีทั้งรับผิดชอบและ ไม่รับผิดชอบต่อความเห็นของตนเอง

แต่สุดท้ายแล้ว สังคมจริงนอกโซเชี่ยลจะต้องตัดสินเรื่องราวต่างๆ ไปตาม ข้อเท็จจริงที่ปรากฏ

กรณีที่สมาชิกสนช. หลับในห้องประชุมระหว่างการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 มีคำขอโทษและชี้แจงเหตุผลออกมา ว่าสมาชิกป่วยหรือสุขภาพยังไม่แข็งแรง

อย่างไรก็ตาม การประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 นั้นมีลักษณะคล้ายกันมาอย่างต่อเนื่อง ว่างบประมาณต่างๆ นั้นจัดแจง จัดสรรตามความตั้งใจของฝ่ายบริหารไว้หมดแล้ว

เมื่อสมาชิกที่พิจารณาเรื่องสำคัญนี้ไม่มีท่านใดเลยเป็นผู้แทนของประชาชน ไม่มีฝ่ายค้านมาต่อรองถกเถียงผลประโยชน์ของการใช้งบประมาณ

ความสำคัญของการประชุมจึงถูก ลดทอนลงไป ทั้งในส่วนของสมาชิกและความสนใจของประชาชน

ขณะเดียวกัน การประชุมสภาที่ขาดการโต้แย้งอย่างที่เคยมีในสภาผู้แทนราษฎร ยังทำให้การตำหนิหรือโจมตีนโยบายการใช้ งบประมาณของรัฐบาลชุดก่อนๆ ไม่มีน้ำหนัก เนื่องจากเป็นการสื่อสารข้างเดียว

แม้รัฐบาลจะยืนยันถึงความแข็งขันในการป้องกันการทุจริตจากการจัดสรรงบประมาณ เข้มข้นอย่างไร ก็เป็นเรื่องยากสำหรับการตรวจสอบ

ยิ่งไม่มีกลไกของการรับฟังข้อคัดค้านจากตัวแทนประชาชน เพราะมองว่าการประท้วงคือความวุ่นวาย ยิ่งทำให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมของประชาชนลดลง

เมื่อประชาชนไม่มีส่วนร่วมกับการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ จึงเกิดบรรยากาศง่วงหลับเป็นธรรมดา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน