ครม.สัญจรภาคเหนือตอนล่างโดยมีพิจิตรเป็นใจกลาง แตกต่างไปจากครม.สัญจรภาคอีสานตอนใต้ โดยมีบุรีรัมย์เป็นใจกลางอย่างเด่นชัด

อาจเพราะพื้นที่ทางการเมืองของพิจิตรไม่เหมือนกับพื้นที่ทางการเมืองของบุรีรัมย์

บุรีรัมย์อาจจะมีพรรคเพื่อไทยสอดแซม

แต่ด้านหลักเป็นของ นายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งเป็นผู้นำบารมีแห่งพรรคภูมิใจไทย

ตรงกันข้าม พิจิตรอยู่ในความยึดครองที่ก้ำกึ่งกัน

นั่นก็คือ ส่วนหนึ่งเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ส่วนหนึ่งเป็นของพรรคเพื่อไทย

การต้อนรับจึงเป็นเรื่องของ “ทางราชการ”

ขณะเดียวกัน ภายในคสช.และภายในรัฐบาลก็มีการตรวจสอบประเมินผลการขับเคลื่อนครม.สัญจร

บทเรียนจาก “บุรีรัมย์” นับว่าแหลมคม

ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปยืนโบกไม้โบกมือพร้อมกับรัฐมนตรีอันเป็นพระอันดับ ที่สุดแล้วมิใช่ผลงานและความสำเร็จของคสช.และของรัฐบาล

หากแต่เป็นผลงานและความสำเร็จของ นายเนวิน ชิดชอบ เจ้าของสนามช้าง อารีนา

และพรรคภูมิใจไทยต่างหากที่รับไปเต็ม-เต็ม

สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เหมือนกับสถานะของ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในการเปิดตัวพรรครวมพลังประชาชาติไทย

ที่บุรีรัมย์ นายเนวิน ชิดชอบ ยิ้มชื่นเบิกบาน ที่ศาลาดนตรีสุริยเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ยิ้มหลังม่านน้ำตา

จึงสรุปบทเรียน “พิจิตร” มิให้ซ้ำรอย “บุรีรัมย์”

ตัวอย่างจากครม.สัญจรที่บุรีรัมย์ เมื่อนำมาวางเรียงเคียงกับตัวอย่างการเปิดตัวพรรครวมพลังประชาชาติไทย

นำไปสู่บทสรุปอันเป็นบทเรียนทาง “การเมือง”

การเมืองนั้นย่อมขึ้นอยู่กับว่าใครยึดครอง “อำนาจนำ” ใครแย่งชิง “พื้นที่”ได้อย่างเป็นจริง

ที่สุดแล้วก็คือ ใครเป็นคนกำหนดเกม กำหนดวาระ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน