การเสนอสมญา “อนุบาลทางการเมือง”ให้กับ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ โดย นายเสนาะ เทียนทอง มิใช่ว่าได้มาอย่างง่ายดาย

หากแต่ได้มาผ่านบทเรียนของ “พรรคประชาราช”

ต้องยอมรับว่า การจัดตั้งพรรคประชาราชในสถานการณ์เลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 มาจากความจัดเจนทางการเมืองอย่างน้อย 3 ส่วน

1 มาจากพรรคชาติไทย 1 มาจากพรรคความหวังใหม่ และ 1 มาจากพรรคไทยรักไทย

แล้วเมื่อปะเข้ากับ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์

เหตุใดจึงทำให้ นายเสนาะ เทียนทอง ต้องถอยกลับไปตั้งหลัก ณ บ้านเมืองทองธานี

แล้วเกิดนิยาม “อนุบาลการเมือง”ขึ้น

ความเป็นจริงก็คือ นายประชัย เลียวไพรัตน์ ไม่ยอมรับบทบาทของ นายเสนาะ เทียนทอง

และเลือก “มัชฌิมาธิปไตย”

ผลจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ไม่ว่าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ไม่ว่าพรรคประชาราช ล้วนไม่ประสบผลสำเร็จ

แพ้พรรคพลังประชาชนยับเยิน

บทเรียนจากสถานการณ์การเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 จึงไม่เป็นไปเหมือนกับที่เคยเห็นกับพรรคชาติไทย ที่เคยเห็นกับพรรคความหวังใหม่และที่เคยเห็นกับพรรคไทยรักไทย

ในที่สุด ไม่เพียงแต่บางส่วนของพรรคมัชฌิมาธิปไตยจะสลายกลายเป็นส่วนหนึ่งในพรรคพลังประชาชน

หากแม้กระทั่ง นายเสนาะ เทียนทอง ก็บ่ายหน้ากลับ

กลายเป็นส่วนหนึ่งของพรรคพลังประชาชน กลายเป็นส่วนหนึ่งของพรรคเพื่อไทย

แต่คำว่า “อนุบาลการเมือง”ยังดำรงคงอยู่

สถานการณ์การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แม้จะผ่านรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 มา

แต่ “อนุบาลการเมือง”ก็เริ่มปรากฏตัว

ไม่เพียงแต่จะสัมผัสได้ผ่านพรรครวมพลังประชาชาติไทย หากแม้กระทั่งที่วิ่งกันฝุ่นตลบในพรรคพลังประชารัฐก็เห็นๆกันอยู่อย่างชัดถนัดตา

“อนุบาลการเมือง” กำลังสำแดง “บทบาท”อีกครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน