คอลัมน์ รายงานพิเศษ

เสียงเรียกร้องให้คสช.ปลดล็อกพรรคการเมืองเริ่มถี่ขึ้น โดยเฉพาะเมื่อดังมาจาก 2 พรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย และประชาธิปัตย์

ก่อนหน้านี้ บรรดาพรรคการเมืองเคยเรียกร้องมาแล้ว แต่ไม่มีเสียงตอบรับจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ครั้งนี้ มีการเคลื่อนไหวกันอีกครั้งเพราะโรดแม็ปเริ่มขยับเข้าสู่โหมดเลือกตั้งปี 2560 มากขึ้นทุกที

ในขณะที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็เตรียมเปิดร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

นักเลือกตั้งจึงอยากได้ความชัดเจนจากคสช.เรื่องนี้

ในความเห็นของอดีตกกต. นักสันติวิธี และนักวิชาการ มองว่าถึงเวลาหรือยัง

2

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช

ผอ.สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

กรณีพรรคการเมืองเรียกร้องให้มีการปลดล็อกให้พรรค การเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้นั้น ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรผ่อนคลายมานานแล้ว ตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติจากประชาชน และเป็นที่เข้าใจว่าจะได้ประกาศใช้ในเร็วๆ นี้

เพราะตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติสถานการณ์ที่ควรจะเป็นคือต้องมีความพยายามในการสื่อสารเรื่องราว ข้อบังคับ ในร่างรัฐธรรม นูญ และร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ให้พรรค การเมืองและประชาชนเข้าใจ หนึ่งในนั้นคือร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต.

ซึ่งไม่ว่าช้าหรือเร็วเราจะต้องเข้าสู่การเลือกตั้ง จึงต้องมีการ เตรียมความพร้อม เราต้องไม่ลืมว่าการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลรัฐประหารไปสู่รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ทันที

เพราะตลอดเวลาที่คสช. บริหารประเทศ ไม่อนุญาตให้มีกิจกรรมทางการมืองใดๆ เลย ทั้งที่จริงการจัดกิจกรรมทางการเมืองมีความสำคัญอย่างมาก คือทำให้ประชาชนตื่นตัวทางการเมือง มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่เมื่อถูกยับยั้งไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมือง ประชาชนก็ไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองเท่าที่ควร

ดังนั้น ถ้าจะเข้าสู่เลือกตั้ง การผ่อนคลายให้พรรคการเมืองจัดกิจกรรมทางการเมืองได้ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะทำได้มาตั้งแต่ประชามติร่างรัฐธรรมนูญผ่านแล้ว และเมื่อถึงตอนนี้หากคสช.ปลดล็อกได้เร็วเท่าไหร่ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเป็นผลดีในแง่ที่ประชาชนจะได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่างๆ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้คือประชาชนไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ทั้งนี้ เมื่อถึงวันเลือกตั้งแล้วจะมาบอกให้พรรคการเมืองไปเลือกตั้งทันทีคงเป็นไปไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองเป็นสถาบันที่มีองคาพยพกว้างขวาง ต้องมีการเตรียมตัวปรับโครงสร้างต่างๆ เตรียมนโยบายต่างๆ ต้องจัดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน

การดำเนินการต่างๆ จึงต้องใช้เวลาพอสมควรทั้งการทำความเข้าใจในรัฐธรรมนูญ และร่างกฎหมายประกอบต่างๆ ด้วย จึงควรให้พรรคการเมืองได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้

ส่วนคสช.จะผ่อนคลายให้ได้แค่ไหนนั้น ส่วนตัวมองว่าไม่ควรไปกำหนดห้ามอะไรพรรคการเมืองเลย แต่ควรปล่อยให้พรรคจัดกิจกรรมได้อย่างอิสระ เนื่องจากมีกฎหมายบังคับอยู่แล้ว อะไรที่ทำถูกต้องตามกฎหมายก็ทำไป ส่วนถ้าทำผิดกฎหมายก็ว่าไปตามกฎหมาย เชื่อว่าทุกคนล้วนมีวิจารณญาณว่าอะไรควรทำ

โคทม อารียา

อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ประเด็นการปลดล็อกเพื่อให้พรรคการเมืองได้ผ่อนคลายและสามารถทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงจัดกิจกรรมทางการเมือง สำหรับคนที่สนใจและติดตามการเมืองโดยทั่วๆ ไป คงมีความคิดเห็นว่าถ้าเราจะมีระบอบประชาธิปไตยที่อาศัยความเห็นพ้องของประชาชนต่อนโยบาย หรือต่อการดำเนินวิถีชีวิตที่เหมือนกันหรือต่างกัน

การไปสู่จุดนั้นก็ต้องเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความ คิดเห็นทางการเมืองอย่างกว้างขวาง และการรวมกลุ่มบุคคลทางการเมืองที่มีความคิดเห็นเหมือนๆ กันบนพื้นฐานของประชาธิปไตย

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกร้องคิดว่าเป็นการเรียกร้องของคนที่ต้องการพัฒนาประชาธิปไตยของเราให้มีความแข็งแรงขึ้น โดยมีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง การเปิดโอกาสให้มีการทำกิจกรรมทางการเมืองถือว่าเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย

นอกจากนี้ ส่วนตัวมองว่าคสช. เมื่อเรียนผูกแล้วก็ต้องเรียนแก้ด้วย เพราะนับตั้งแต่ช่วงที่คสช.เข้ามาปกครองบ้านเมืองและบริหารประเทศก็ได้มีการออกประกาศและคำสั่งคสช.ไว้เป็นจำนวนมากมาย

ซึ่งคำสั่งและประกาศของคสช.มีผลทั้งในทางบริหาร นิติ บัญญัติ และตุลาการ ส่วนตัวจึงคิดว่าคสช.น่าจะตั้งคณะกรรมการหรือคณะบุคคลขึ้นมา โดยคณะกรรมการชุดนี้อาจจะมาจากคนของคสช.เอง หรือมาจากฝ่ายอื่นๆ ก็ได้ที่คสช.ให้ความไว้วางใจ

ให้คณะกรรมการชุดนี้มาทำหน้าที่ทบทวนคำสั่งและประกาศต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย และยกเลิกคำสั่งและประกาศเพื่อเป็นการผ่อนคลาย

ทั้งนี้ ถ้าหากคสช.ยังไม่มีการปลดล็อกให้กับพรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ส่วนตัวมองว่าคสช.คงมีการประเมินว่าถ้าพรรคการเมืองไประดมคนขึ้นมาแล้วก็มาขัดแย้งกันเองหรือขัดแย้ง กับคสช. เดี๋ยวจะคุมสถานการณ์ไม่ได้ จะเป็นปัญหาต่อความมั่นคง

อย่างไรก็ตามทาง การเมืองเป็นเรื่อง ธรรมดาที่จะมีความ ขัดแย้ง อันนี้เป็นความเชื่อส่วนตัว เราจะสร้างระบบการเมืองที่คนยิ้มแย้มแจ่มใสเห็นพ้องต้องกันหมดมันเป็นอุดมคติ มันมีความขัดแย้งกันเป็นธรรมดา แต่สิ่งสำคัญคือเราจะจัดการกับความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไร

ขณะนี้วิธีการจัดการกับความขัดแย้งทางการเมืองก็คือว่าให้ทุกคนเชื่อฟังคสช.ก่อน แล้วทุกอย่างจะค่อยๆ คลี่คลายไป แต่มันก็อยู่ได้แค่ชั่วคราว ดังนั้น ขณะนี้อยากให้ทุกคนยอมรับว่ามีความขัดแย้ง ไม่อยากให้คิดว่าคู่ขัดแย้งคือศัตรูที่เราจะต้องอาฆาตหรือต้องล้มล้างกัน เพียงแต่เป็นเหมือนการแข่งขันกันในระบอบประชาธิปไตย อยู่ด้วยกันอย่างประนีประนอมท่ามกลางความขัดแย้ง

เพราะฉะนั้นถ้าส่วนตัวจะเสนอคือต้องเตรียมแผนเพื่อความเข้าใจที่ดีว่าคำว่าการคืนดี ไม่ได้แปลว่าคืนดีไปสู่สภาพที่รักกัน ชอบกัน แต่หมายความว่า ต่อไปนี้เราจะทะเลาะกันอย่างมีมารยาท ตามกฎ กติกา

รวมทั้งเปิดพื้นที่ทางความคิดเห็นของฝ่ายข้างน้อยและฝ่ายข้างมาก เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนความคิดกันมันถึงจะได้เกิดความแตกฉาน

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

คำสั่งของ คสช. เจตนาคือไม่ต้องการให้พรรคการเมืองขยับ คสช.อยากจัดระเบียบนักการเมืองที่ถูกมองว่าทำให้ประเทศเสียหายให้เป็นไปตามที่ตัวเองคิด ทั้งที่พิสูจน์ไม่เคยได้ เช่นเดียวกับข้าราชการ เพราะกลไกการทุจริตนักการเมืองทำเองไม่ได้ อย่างไรก็ต้องมีข้าราชการระดับสูงมาเกี่ยวข้องด้วย

ข้อดีของการปลดล็อกจะส่งผลดีที่สำคัญคือ ไทยจะได้รับความเชื่อมั่นจากต่างประเทศกลับคืนมา แต่เชื่อว่า คสช.คงไม่ปล่อยเพราะกลัวว่าจะเกิดปัญหาตามมา จึงต้องการคงอำนาจรวมศูนย์ปล่อยให้กรธ.ร่างกฎหมายลูก 4 ฉบับสำคัญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง

แล้วก็อ้างว่าเชิญตัวแทนจากพรรคมาร่วมแล้ว แต่ข้อเท็จจริงคือเชิญมาเป็นรายบุคคล คนที่มาก็ไม่ได้เก่งเรื่องกฎหมาย พรรคจะคัดเลือกคนมาก็ไม่ได้ ติดขัดเรื่องคำสั่งคสช.ห้ามประชุมพรรค

คสช.ควรวางกรอบเวลาให้ชัดเจนว่าจะเปิดให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ภายในกี่วัน ส่วนตัวมองว่าช่วงหลังปีใหม่น่าจะเหมาะสม หรือไม่ก็ช่วงกลางปี 2560 ราวเดือน พ.ค. ที่ตำแหน่งผู้บริหารส่วนท้องถิ่น 7,000 กว่าตำแหน่งจะว่างลงทั้งหมด คสช.ก็ควรผ่อนปรนให้มีการเลือกตั้ง เพื่อค่อยๆ คืนประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรม

เป็นข้อดีสำหรับกองทัพเองจะได้เรียนรู้กลไกการเลือกตั้ง รูปแบบกลโกงว่ามีหรือไม่ ทำกันอย่างไรจะได้จัดการถูก ทั้งยังเพื่อความยุติธรรม เหมือนกับกระแสข่าวที่ผู้มีอำนาจในขณะนี้กำลังดำเนินการ ก็ควรจะปล่อยให้พรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมเขาได้ขยับบ้าง

ต้องให้เกียรติกัน โดยเฉพาะความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ต้องบังคับใช้กับพรรคการเมือง ให้เขามีส่วนร่วมในการนำเสนอ หากผู้มีอำนาจไม่เห็นด้วยกับส่วนไหนก็ชี้แจงเลย แล้วเปิดเผยให้สังคมรับทราบ ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเอง

ผู้มีอำนาจต้องอย่ากลัวพรรคการเมือง ควรเปิดเสรี ลำพังกฎหมายกกต.ก็ล็อกไว้จนดิ้นไม่หลุดอยู่แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน