การประชุมครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างชาติคู่อริที่ข่มขู่กันมานาน ผันไปสู่โต๊ะเจรจาเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา พบกับ นายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ

สถานที่จัดประชุมครั้งนี้อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ชาติผู้นำของภูมิภาคอาเซียน หลังจากชื่อของประเทศไทยเคยตกเป็นข่าวว่าอาจได้รับเลือกด้วย

ถึงแม้ว่าไทยจะไม่ได้รับโอกาสครั้งนี้ แต่การเรียนรู้เหตุการณ์สำคัญของโลกยังคงน่าสนใจและติดตาม

โดยเฉพาะเหตุการณ์ใหญ่ที่ผ่านความขัดแย้งอย่างหนัก สะท้อนว่าสุดท้ายแล้วการข่มขู่คุกคาม หรือใช้อาวุธประหัตประหารกันนั้นไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์อันขัดแย้ง และเป็นปัญหาคลี่คลายได้เท่ากับการเจรจา

แม้ว่าการเจรจาจะไม่ใช่ทางออกหรือทางแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด เหมือนกับที่การเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของประชาธิปไตย

แต่ทั้งสองวิธีจำเป็นต้องมีเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการคลี่คลายปัญหา รวมถึงสานต่อไปสู่ความพยายามอื่นๆ ที่จะตามมาในทางแนวทางสันติภาพ

กรณีปลดอาวุธเกาหลีเหนือนั้น บ้างให้เครดิตกับสหรัฐอเมริกาที่ใช้มาตรการแข็งกร้าวในการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อเกาหลีเหนือ บ้างให้เครดิตจีน ในฐานะพันธมิตรเกาหลีเหนือที่โน้มน้าวให้นายคิม จองอึน เข้าสู่กระบวนการเจรจาได้สำเร็จ

แต่ที่ขาดไม่ได้และน่ายกย่องคือผู้นำสายพิราบของเกาหลีใต้ นายมุน แจอิน ซึ่งยึดหลักการเจรจาเป็นจุดเริ่มต้นก่อน แม้ในยามที่การนัดพบเริ่มปั่นป่วน ก็ยังยึดแนวทางนี้เกลี้ยกล่อมให้ทั้งเกาหลีเหนือและสหรัฐกลับเข้ามาสู่กำหนดการนัดพบเดิมได้ในที่สุด

สําหรับประเทศไทยที่ผ่านช่วงเวลาที่สังคมขัดแย้งกันรุนแรงและน่าจะยังขัดแย้งกันอยู่ น่าจะเรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ได้

ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่สามจังหวัดชายแดนใต้ หรือสถานการณ์ขัดแย้งด้วยความคิดทางการเมือง ควรต้องแสวงหาหนทางของการเจรจาอย่างจริงจัง

หลังจากประเทศสูญเสียชีวิตพลเรือนมาหลายครั้ง และประชาธิปไตยถูกทำลายมาหลายหน

หากไม่มีการเจรจาที่เปิดใจกัน ความหวังที่จะมีสันติภาพจะไม่เกิดขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน